ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย
ต้น 36.โคลงเคลงยวน
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ดอกโคลงเคลงยวน
ชื่อสามัญ โคลงเคลงยวน (ตะวันออก) ; โคลงเคลงขน (ปราจีนบุรี) ; ม่ายะ (ชอง-ตราด) ; เอ็นอ้า (อุบลราชธานี) ; พญารากขาว (กลาง) กะเร, มะเร, สาเหร่, เหมร, เบร้ (ใต้) indian rhododendron, malabar melastome. ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma saigonense (Kuntze) Merr. ชื่อวงศ์ MELASTOMATACEAE ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ ในต่างประเทศ พบที่ อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ในประเทศไทย พบที่ภาคตะวันออก เช่นจันทบุรี ตราด ในป่าโกงกาง แถบจังหวัดปราจีนบุรีในป่าดงดิบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสานใต้ เช่น อุบลราชธานี ในป่าดงดิบหรือบนลานหิน และในป่าดงดิบแถบภาคใต้ เช่นสุราษฎร์ธานี ในป่าดงดิบ ฯลฯ ลักษณะประจำพันธุ์ ต้น เป็นไม้พุ่ม สูง 1.00 – 1.20 เมตร ลำต้นกลม แตกกิ่งก้านมาก เปลือกนอกสีเทา บาง ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม สีเขียวแกมเหลือง หลังใบสีอ่อนกว่า รูปใบเรียวหรือรูปขอบขนานถึงใบหอกแกรมรูปไข่ ปลายเรียวแหลม กว้าง 3.0 – 4.0 เซนติเมตร ยาว 9.2 – 10.5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.9 – 1.1 เซนติเมตร หน้าใบไม่มีขน หลังใบมีขนสั้น แข็งสากมือตามเส้นกลางใบ เส้นกลางใบแตกออกจากโคนใบเป็น 3 เส้น ดอก ดอกออกเป็นช่อ ๆละ 3-7 ดอก ฐานรองดอกกลมรีมีขนแข็ง ออกดอกตามยอด กลีบดอกสีชมพูแกมม่วงมี 5 กลีบ อับเกสรสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ผล รูปคนโท อ่อนเขียว สุกสีม่วงแดง แก่แตกสลัดเมล็ดกระจายไปทั่ว สภาพที่เหมาะสมและการขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ตามป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าชายหาดและป่าชายเลน มีความชุ่มชื้นสูง –ร้อนชื้น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะกล้าจากเมล็ด หรือปักชำกิ่ง บันทึกผู้เขียนและผู้ถ่าย เอกสารหลายฉบับรายงานว่า เป็นพืชอาหารสัตว์ สมเสร็จ กระทิง ผลรับประทานได้ ทั้งสัตว์ป่าและคน เป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กันในระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ราก รสขม บำรุงธาตุ เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงตับไตและดี เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค (วุฒิ, 2540) ชาวบ้านใช้ใบผสมเปลือกกล้วยตำคั้นเอาน้ำดื่มแก้บิด มวนท้อง นิยมใช้กันในภาคใต้ของประเทศไทย ขอขอบคุณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สุคิด เรืองเรื่อ ส่วนพฤกษศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่กรุณายืนยันชนิดไม้ต้นโคลงเคลงยวนครับ ใบและดอกโคลงเคลงยวน |