ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย
ต้น 40.จิงจ้อเหลือง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ชื่อสามัญ จิงจ้อหลวง จิงจ้อขน จิงจ้อใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Merremia vitifolia (Burm.)
ชื่อวงศ์ CONVOLVULACEAE
จิงจ้อเหลือง
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
ในต่างประเทศ พบในอินเดีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีนตอนใต้
ในประเทศไทย พบตามที่รกร้างว่างเปล่า ริมทาง ที่ราบถึงสูง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะประจำพันธุ์
ต้น ไม้เถาเลื้อยเนื้ออ่อนขนาดเล็ก ยาว 3-5 เมตร พาดพันไปตามต้นไม้เล็กๆ เตี้ยๆ ทุกส่วนมีขนสีขาวปกคลุม
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ เว้าเป็น 3-5 แฉก แต่ละแฉกมีเส้นใบ 5 เส้น เส้นใบย่อยโค้งจดเส้นถัดไป ปลายเส้นไม่จดขอบใบ มีขนสีขาวสั้นๆทั่วใบ ขอบใบเป็นคลื่นบางๆ สากมือ
ดอก ช่อดอกออกตามซอกใบ กลุ่มละ 1-3 ดอก กลีบดอกบางๆ สีเหลือง ดอกรูปแตร ปลายกลีบเชื่อมติดกัน บานเต็มที่ขนาด 4-6 ซม. เกสรผู้สีเหลืองอยู่บนแกนเกสรเมีย ออกดอกตอนปลาย ฤดูหนาว(มค)-ฤดูร้อน(มีค) แดดจัดจ้า
ผล รูปกลม สีฟางข้าว เมล็ด 3-6 เมล็ด เมล็ดแก่สีน้ำตาลดำ
สภาพที่เหมาะสมและการขยายพันธุ์ ดินเลวจนถึงดินดี แดดเต็มวัน อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความสูงไม่เกิน 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง การขยายพันธุ์นิยมเพาะกล้าจากเมล็ด หรือ หว่านลงดินถึงออกดอก ราวๆ 3-4 เดือน
จิงจ้อเหลือง
บันทึกผู้เขียนและผู้ถ่าย
จิงจ้อเหลืองเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็กๆ ขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่า ริมทางข้างป่า มองเผินๆก็แค่ดอกไม้เลื้อยริมทางที่แทบไม่เห็นคุณค่าใดๆ แต่ถ้าถามว่าสวยไหม ต้องตอบเลยว่าสวย เพิ่มสีสันริมทางได้ไม่น้อย ทำนองเดียวกันกับผักบุ้งรั้ว หรือมอนิ่งกลอรี่ สามารถนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ แบบปลูกขึ้นค้าง ลงกระถางเลื้อยไต่ไปตามลวดห้อย หรือซุ้มเล็กๆได้ ดอกดกสีสดใส ขึ้นง่ายตายยาก ถ่ายรูปสวย
เป็นพืชสมุนไพร ถ้าตากแห้งทั้งต้น ใช้แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นยาเจริญอาหาร แก้เสมหะ นั่นแสดงว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาใช้ได้เช่นพืชตัวอื่นๆ สวยและมีคุณเหมือนกันนะ ดอกไม้ริมทาง