ตลาดน้ำ ตลิ่งชัน ยังมีมนเสน่ห์ตราตรึงใจ
โดยป่าน ศรนารายณ์-เรื่อง //ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์
เมื่อผู้อำนวยการเขตตลิ่งชันคนหนึ่ง ชื่อนายประชุม เจริญลาภ หัวดีมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ตัดสินใจใช้ถนนลงท่าเทียบเรือหน้าที่ทำการเขตเปิดเป็นตลาดน้ำตลิ่งชันขึ้น ได้รับความนิยมอย่างถล่มทะลาย นักท่องเที่ยวประเภทวันเดียวไปเที่ยวที่ไหนดีไม่ต้องถ่อสังขารไปไกลถึงตลาดน้ำดำเนินสะดวกอีกต่อไป ก็ตลิ่งชันอยู่ใกล้ๆแค่นี้เองค่ะ
ส่วนแรกของตลาดอยู่บนบก ใช้พื้นที่เขตตลิ่งชันเป็นลานจอดรถยนต์และห้องสุขาค่ะ ส่วนที่สองเป็นถนนหน้าที่ทำการอันเป็นถนนสั้นๆก่อนลงแพท่าเรือ เป็นที่ตั้งสินค้าขายกันง่ายๆ ไม่มีโรงเรือนถาวร สินค้าที่ขายเป็นขนม ผลไม้ ผัก ดอกไม้ เด่นมากและมีลูกค้าหนาแน่นมากก็ปลาตะเพียนต้มเค็มไร้ก้าง ข้าวโพดต้ม ถั่วลิสงและมันต้ม ส่วนหลังมีร้านอาหารใต้ร่มไม้ มีดนตรีสมัยใหม่เล่นให้ฟัง หางเครื่องคือเด็กเล็กๆ น่ารักดีค่ะ
ชายน้ำเป็นที่ตั้งตู้ขายบัตรลงเรือล่องคลองชักพระ ใกล้ๆกันมีศาลาไทยหลังเล็กๆ เข้าใจว่าเดิมน่าจะเป็นที่พักผู้โดยสาร แต่วันนี้ มีนักดนตรีสมัครเล่นบรรเลงเพลงไพเราะด้วย ขิม ขลุ่ย กลอง กรับ ซออู้ ไวโอลิน ระนาดฯลฯ ท่าทางนักดนตรีเหมือนคนมีอันจะกิน เครื่องดนตรีดูมีราคา คงเป็นสมบัติส่วนตัวอีกเช่นกัน เล่นบรรเลงด้วยความรักและพึงพอใจที่ได้มีโอกาสเล่น วัยนักดนตรีมีตั้งแต่เด็กๆไปจนถึงวัยกลางคน น่ารักและน่าชื่นชมค่ะ
แต่ก่อนจะลงไปในเรือนำเที่ยว ก็ขอแวะหาของกินที่มีมากมายเหลือกำลัง(จะกิน) เรือแม่ค้าล่องลอยอยู่ชายแพอาหารที่สร้างเป็นเรือนไทย กี่แพไม่ได้จดจำ แต่มีพอให้หมุนเวียนกันเข้าไปนั่งกินได้สบายๆ อาหารก็มีหลากหลายให้เลือกตามชอบเลยค่ะ อาหารทะเลก็เช่นกุ้งเผา ปูม้าเผา หอยแครงเผาหรือลวก น้ำจิ้มซีฟู๊ดรสแซบ อาหารอีสานก็เช่น ส้มตำสารพัดชนิดและลาบน้ำตก อาหารไทยๆก็ผัดไทย หอยทอด ก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเลิศ ต้มเลือดหมูก็มีจ้ะ
เรือบางลำเก่งทางปิ้งย่าง เช่นปลาช่อนเผา ปลาทับทิมเผา กุ้งเผา หมูสะเต๊ะ ฯลฯ
แพ 5 อุ้มก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง โทร.086-9030112 เล่าให้ฟังว่า
"มาขายตั้งแต่เปิดตลาด ขายอยู่อย่างเดียวนี้แหละค่ะ ก๋วยเตี๋ยวหมูใส่ใบตำลึง เกาเหลาเลือดหมู ต้มยำรสแซบ โอย ขายดีมาก ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โนนค่ะ เดี๋ยวนี้มาช่วยพ่อเขย่า พนักงานเสิรืฟนี่ก็น้องๆทั้งนั้นค่ะ อาชีพเดียวถ้าถูกที่ก็ช่วยให้มีรายได้เลี้ยงหลายครอบครัวค่ะ"
"ผู้อำนวยการเขตประชุมนี่น่ายกย่องจริงๆนะ" ป่านเสริม
"ชาวตลาดเป็นหนี้บุญคุณท่านนะคะ"
ป่านฟังแล้วก็รู้สึกว่า ถ้ามีใครสักคนโดยเฉพาะข้าราชการเช่นผอ.ประชุม ที่ท่านกล้าหาญมาก กล้าใช้ที่ทำการราชการเพื่อให้ประชาชนหาผลประโยชน์ และกล้าใช้ถนนหลวงหน้าที่ทำการให้ประชาชนมาร่วมกันใช้ประโยชน์ เสี่ยงต่อการถูกตำหนิและลงโษทัณฑ์ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า "มีวิสัยทัศน์และกล้าตัดสินใจ" ถ้าบ้านเมืองเรามีคนเก่งและกล้าอย่างนี้มากๆ ประเทศเจริญ
แต่ถ้ากล้าโกงกล้ากินใต้โต๊ะ ประเทศ เจ๊ง ค่ะ
ลงเรือหางยาวด้วยความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ ไกด์สาวอนงค์หนึ่งเดินมาสอบถามว่า มาจากไหนกันบ้าง แรกก็งงๆ ค่ะ แต่พอเรือออกเดินทางเธอส่งเสียงดังฟังชัดผ่านไมค์
"คุณลุงจากแคราย เตรียมกล้องเลยค่ะ เรือจะล่องแล้ว" แล้วก็ไล่เรียงทักทายไปทีละคนๆ กระทั่งถึงชาวญี่ปุ่นเธอก็ส่งภาษาญี่ปุ่นทักทาย ครั้นถึงสาวรัสเซียก็โอเคซิกาแรตต์กันตามควร เรียกเสียงเฮอาได้ไม่น้อย ที่งงๆแต่แรกก็หายงงแล้ว เธอสลายพฤติกรรมเพื่อนร่วมเดินทาง
เยี่ยมๆ เธอผู้นี้บอกว่าชื่อกอฟล์ แต่หน้าตาน่ะโคราชๆ แต่น่ารักจ้ะ
เรืองล่องไปตามลำน้ำคลองชักพระ น้ำใสสะอาดตา ละอองที่กระเด็นใส่เย็นดีและไม่เหม็นเหมือนคลองแสนแสบ สักครูก็ได้เห็นวิถีชีวิตชาวสองฝั่งน้ำค่ะ คุณตาคนหนึ่งพายงัดๆ ส่วนคุณยายก็พายจ้ำเอาๆ น่ารักซะไม่มี
เลยไปอีกหน่อยก็มีชาวบ้านนั่งรวมกันที่ระเบียงหน้าบ้านริมน้ำใสๆ ดูช่างน่าอิจฉาเสียนี่กระไร คนอยู่กลางกรุงอย่างป่าน อึดอัดทุกวัน เมื่อเห็นภาพสบายๆริมสายน้ำก็ได้แต่เก็บเอาไว้ในใจ "แก่เมื่อไรได้กลับบ้านเกิด จะไปต่อเติมส่วนขยายหน้าบ้านแบบนี้บ้าง"
อันว่าคลองชักพระนี้ ว่ากันว่ามันมีตำนานนะคะ ด้วยประเพณีที่ทำกันมานานจนสืบสานไม่ได้ว่าเมื่อไร แต่ก็มีทุกปี โดยทุกวันแรม 2 ค่ำเดือน 12 น้ำนองเต็มสองฝั่งคลองละค่ะ หน้าวัดนางชีจะมีการนำเอาพระบรมสารีริกธาตุลงเรือ พร้อมพระสาวกนะคะ แล้วก็ล่องเรือไปตามคลองเพื่อให้ญาติโยมสองฝั่งได้อนุโมทนาสาธุ ผ่านคลองบางกอกน้อยแล้วเลยไปจนถึงวัดไก้เตี้ย ตรงวัดนี้ได้เวลาเพล ก็มีการขึ้นไปเลี้ยงพระเพลค่ะ รับศิลรับพรกันแล้วก็ล่องเรือต่อ
เรือนำพระบรมสารีริกธาตุล่องผ่านคลองบางกอกน้อย แล้วทะลุไปแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ จนวนมาออกที่วัดนางชีเหมือนเดิม
วันเพ็ญเดือนสิบสอง คนสองฝั่งคลองจะกลับบ้านและเล่นลอยกระทง ร้องรำทำเพลงกันดังลั่นสนั่นคลองเชียวค่ะ
สองฝั่งคลองชักพระมีบ้านเรือนไม้เก่าๆหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มีรั้วไม้ระแนงเก๋ดี และส่วนใหญ่มีระเบียงริมน้ำหน้าบ้านไว้พักผ่อน มีเรือเล็กๆจอดไว้ใช้สัญจร
"เมื่ออดีตที่ยังสัญจรทางน้ำ เรือคงขวักไขว่" ป่านนึกในใจค่ะ
เรือพาล่องท่องแม่น้ำไปอย่างเพลิดเพลิน 3 ชั่วโมงไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ปลายทางสายน้ำสายหนึ่ง กอฟล์เล่าว่า สวนกล้วยไม้เจ้านี้เป็นแหล่งชมกล้วยไม้เก่าแก่ ทำมาตั้งแต่ครั้งพ่อยังอยู่ จนถึงทุกวันนี้ ลูกชายชื่อคุณวิทูรย์ ผู้ลูกสืบต่อมาอย่างเต็มอกเต็มใจ
"ได้อะไรไหมครับ ที่ให้เขาขึ้นมาชมแล้วก็กลับ"
"ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ได้ความภูมิใจที่พ่อทำมาเพื่อส่วนรวม ก็ขายดอกกล้วยไม้ได้นิดหน่อย บางทีก็ขายต้นมันครับ"
ท่าทางคุณวิทูรย์ภาคภูมิใจสมคำค่ะ ก็ขอให้มีความสุขนะคะที่เสียสละเวลาเพื่อชุมชน
ลงเรือแล้วล่องกลับไปยังวัดต่างๆอีกหลายวัด ผ่านตลาดน้ำคลองลัดมะยม ครั้งน่าจะพาเที่ยวเต็มๆ มีข้อสังเกตว่า ทั้งคลองเป็นเขตอภัยทาน ปลาดำผุดดำว่ายกันทั่วไป ชุกชุมมาก ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นปลาสวายและปลาเทโพ ข้อสังเกตนะคะ ปลาสวายไม่มีแต้มดำๆที่ข้างครีบ แต่ถ้าเป็นปลาเทโพจะมีแต้มดำๆที่ข้างๆครีบ 2 ข้างค่ะ
ป่านเองเห็นแล้วก็ตื่นเต้น แต่ลุงธงชัย ตากล้องสิคะ แกแอบบกระซิบว่า
"ป่านเอ้ย..ต้มยำปลาสวายอร่อยอย่าบอกใครเชียว ยิ่งแกงคั่วผักบุ้งยอดอวบๆด้วยแล้ว ต้องกินข้าวสองจานทุกที"
เสน่หาอาลัยสุดท้ายของตลาดน้ำตลิ่งชัน "เล่นสงกรานต์กับปลาค่ะ" สนุกสนานมากค่ะ ปลาสวายนับหมื่นๆตัวเล่นไม่ซื่อ หนอย...ให้อาหารจำพวกขนมปังอร่อยๆ แล้วเขายังสะบัดปลายหางจนน้ำกระเด็นขึ้นมาเปียกกันทั่วทุกตัวคน เด็กๆ กรี๊ดๆๆๆ ด้วยความตื่นเต้น ใบหน้าเปื้อนด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจจริงๆ ทั้งแม่ทั้งลูกนั่นแหละ
"คุ้มไหม...คุ้มไหม"
กรุณาดูภาพประกอบนะคะ ลุงธงชัยเขาถ่ายมาด้วยความตั้งใจมาก เขาบอกว่า ไฮไลท์ตลาดน้ำตลิ่งชันมันอยู่ที่ตรงนี้แหละ
"เชื่อมั้ยเชื่อก็พิจารณาดูนะคะ แต่สำหรับป่านแล้ว เชื่อค่ะเชื่อ
เปียกไปตามๆกันค่ะ
แววตาเธอช่างดูมีความสุข
กอฟล์ค่ะ..Goodbye นะคะ