คนเกิดปีขาล ต้องไปกราบไหว้ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
โดยทิดท้วม-เรื่อง ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ
เรื่องเล่าขานกันมาแต่โบราณกาลจนเป็นตำนานนั้น ว่ากันว่าพระธาตุช่อแฮ เกิดด้วยพระพุทธพจน์แห่งองค์สมณโคดม ตำนานเล่าขานกันอีกว่า คนเกิดปีขาล (ปีเสือ) ต้องมากราบไหว้เอาสิริมงคลให้กับชีวิต เช่นเดียวกับที่คนเกิดปีชวด(ปีหนู) ให้ไปกราบไหว้พระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และคนเกิดปีเถาะ(ปีกระต่าย) ให้ไปกราบไหว้พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ตามจักราศีปีเกิดของตน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
พระธาตุช่อแฮ..........คนเกิดปีเสือ รีบไป ปีนี้ปีชงนะเจ๊....า
ตำนานเล่าว่า เจ้าลาวขุนลั้วะอ้ายก๊อม ได้ทราบว่ามีพระอริยสงฆ์นั่งประทับอยู่ใต้ต้นสะแก(จองแค่) ที่ดอยโกสิยชัคคะบรรพต จึงได้ไปกราบกรานขานธรรมด้วย ครั้นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเด็ดพระเกศาธาตุแล้วมอบให้เจ้าลาว พร้อมกับตรัสว่า ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่ ขอให้สร้างพระธาตุบรรจุเส้นพระเกศาธาตุบนดอยนี้ และเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาบรรจุร่วมกัน
หลวงพ่อช่อแฮ
หลังพระพุทธองค์สู่ปรินิพพาน 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เลื่อมใสในพระพุทธธรรมคำสั่งสอน ได้ร่วมกับสาวกแล้วปรึกษากันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีชีวิตและออกโปรดสัตว์นั้น พระองค์ได้เสด็จไปยัง ณ สถานที่แห่งหนตำบลใดบ้าง จึงอธิษฐานกันว่า ขอให้พระบรมธาตุของพระองค์จงเสด็จไปสู่ยังที่ที่พระองค์เคยเสด็จด้วย
พระบรมธาตุทั้งหลายได้ปราศนาการไปยังแหล่งที่ได้เคยเสด็จและเคยตรัสไว้
ส่วนประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ตามพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย กล่าวไว้ว่า
พ.ศ.1654 เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ทำนุบำรุงพระธาตุช่อแฮ ลุล่วงมาถึง พ.ศ.1879-1881 ช่วงสมัยที่พระมหาอุปราช(ลิไท)ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้ทรงเข้ามาทำนุบำรุงพระธาตุช่อแฮ เวลาผ่านเลยมาจนถึงปี พ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้ร่วมกับอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระพระมหาเมธังกร ได้ร่วมกันเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ส่วนประธานฝ่ายฆราวาสได้กำลังศรัทธาจาก เจ้าแม่บัวถา มหายศปัญญา พระยาบุรีรักษ์ และคุณหญิงจันคำ มหายศปัญญา ทำนุบำรุงวัดพระธาติช่อแฮสืบมา
บันไดขึ้นลง ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
ตราบจนทุกวันนี้ วัดพระธาตุช่อแฮ บริบูรณ์ไปด้วยศาสนสถานที่ ครบถ้วน มั่นคง และรุ่งเรืองรองผ่องอำไพ เป็นที่เคารพกราบไหว้ทั่วไป เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ตลอดมา ประกอบด้วยเขตพุทธาวาสกว้างขวาง หนาแน่นด้วยพันธุ์ไม้ให้ร่มเงา สวยงามและน่าศรัทธายิ่งแก่พุทธศาสนิกชน อุโบสถทรงจตุรมุข ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดดอยโกสิยชัคคา พระธาตุแปดเหลี่ยมโดดเด่นด้วยสีทองผ่องส่องได้ไกล รายล้อมด้วยกำแพงแก้วร่มเย็น
พระเจ้าทันใจ
ภายในอุโบสถ พระประธานเรียกกันว่า หลวงพ่อช่อแฮ เป็นศิลปะล้านนา สุโขทัย เชียงแสน ผสม หน้าตักกว้าง 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร ก่ออิฐถือปูนแล้วลงรักปิดทองสวยงาม ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถทรงจตุรมุขหลังคาสูง บันไดนาค 4 ทิศ ทอดยาวลงจากบนยอดดอย มีนาคคู่งดงามตามศิลปะล้านนา เบื้องล่างตีนดอยเป็นวิหาร พระประธานเป็นหลวงพ่อนาคปรก 7 เศียร ลวดลายภาพเขียนในผนังสวยด้วยศิลปะล้านนาอีกเช่นกัน
เดินลงดอยมาแล้วรู้สึกว่า อิ้ด (เหนื่อย) แวะร้านขายกาแฟสดรสแรงๆดื่มสักแก้ว ดื่มน้ำชาร้อนผ่อนคลายจนหายเมื่อย จึงออกไปหาอาหารกลางวันกินกันให้สมใจ "ข้าวซอย" ร้านปากทางเข้าออกจากถนนสายเลี่ยงเมืองแพร่ถึงวัดพระธาตุช่อแฮ ปรุงรสด้วยพริกคั่วหอมกรุ่น เติมเต็มด้วยผักกาดดอง หอมแดง ซอย เหยาะมะนาวอีกนิด ได้รสชาติหอมกะทิ เปรี้ยวและเผ็ดได้ใจ อร่อยกับข้าวซอย ต้องเบิ้ล 2 ชามทุกครั้ง จึงจะสาแก่ใจที่อยาก (นานทีปีหนถึงได้มาเยี่ยมกราย)
อันคนเรานั้น เมื่อกินอิ่มท้องแล้วยังอิ่มบุญบารมีที่ได้มากราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแล้ว ย่อมยังเหลือความอยากอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ได้ใคร่ซื้อของฝากที่มีทั้งของกินและเสื้อผ้าหาง่าย
มาเมืองแพร่ก็ต้องซื้อเสื้อหม้อฮ่อม กลับไปฝากลูกเล็กเด็กๆทางบ้าน แต่บางคนก็ฝากเพื่อนฝูง มีหรือเปล่าไม่รู้ที่แอบซื้อเอาไปฝาก กิ๊ก
ภาพชวนค้นหา...ไปเมื่อไร ลองดู
เป็นความสุขสมใจที่ได้มาท่องเที่ยวเมืองแพร่ด้วยระยะทางเพียง 580 กม.จากกรุงเทพวิ่งรถตู้กันมาด้วยถนนหนทางกว้างขวาง สะดวกสบายมากกว่าในอดีตเหลือหลาย ระหว่างทางยังมีร้านขายกาแฟสดให้พักรถและคนได้เป็นระยะ
ผลไม้ หอม กระเทียม หาซื้อได้ช่วงผ่านบ้านปางต้นผึ้งจยถึงเข้าเมืองอุตรดิตถ์ มีขายสองฝั่งถนน เลือกซื้อกันได้เลย
คนเกิดปีขาล..เสื้อแดง
ข้าวซอยผู้พัน
เสื้อหม้อฮ่อม