อัศจรรย์ภูทอก : วัดเจติยาคีรีวิหาร พระอาจารย์จวนสร้าง
โดย มณี บันลือ เรื่อง-ภาพ-โน๊ะ
ชื่อภูทอก อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย โด่งดังด้วยธรรมยุตนิกายปฏิบัติ ยึดมั่นในพระป่าสาย อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่สืบสานมายาวนานด้วยพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แต่เมื่อสิ้นพระอาจารย์จวนไปแล้ว วัดภูทอกกลับโด่งดังด้วยความอัศจรรย์ที่ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านคำแคน เนรมิตแดนดินถิ่นภูเขารูปแปลกให้กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ ชวนให้อยากไปท่องเที่ยวแดนแผ่นดินธรรมแห่งนี้ และวิถีคนชอบถ่ายรูป เมื่อหนาวทะเลหมอกอึมครึม..ดูท้าทาย
ชาติภูมิพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เดิมท่านชื่อจวน นรมาส บุตรชายคนที่ 6 ของพี่น้อง 7 คน ของนายสาและนางแหวะ อาชีพทำนาและหมอยาพื้นบ้าน บ้านเหล่ามันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเกิดปีพ.ศ.2463 เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอบได้ที่ 1 ตลอดการศึกษาจนได้รับคำชมเชยมากมาย แต่ท่านก็ไม่ได้เรียนต่ออีกเลย
ก่อนจบ 1 ปี ท่านได้ไปกราบพระธุดงค์ที่มาปักกลดใกล้บ้านท่าน ด้วยความสนใจในธรรมปฏิบัติ พระธุดงค์องค์นั้นได้ให้หนังสือชื่อ ไตรสรณาคมน์ ของพระอาจารย์เสาร์ ท่านอ่านและทดลองปฏิบัติธรรมตามหนังสือ ด้วยความตั้งใจ
ท่านช่วยบิดามารดาทำนาและทำงานเป็นลูกจ้างกรมทางหลวงตอนอายุ 18-21 ปี ครบ 21 ปี พ.ศ.2484 ท่านได้อุปสมบทที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลอำเภอจังหวัดเดียวกับบ้านเกิด
แต่เมื่อท่านขอออกธุดงค์ พระอุปัชฌาย์ไม่ยินยอม ท่านจึงลาสิกขาบทจากพระมหานิกาย
แต่แล้วท่านก็บวชใหม่อีกครั้งในสายธรรมยุตนิกาย พ.ศ.2486 ได้สมญานามว่า จวน กุลเชฏโฐ ที่วัดดงหม้อทอง
ท่านได้ปลีกวิเวกที่ดงศรีชมภู อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แถวๆถ้ำจันทน์ ต่อมาธุดงค์ไปจำพรรษาที่ภูสิงห์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย จนถึงปีพ.ศ.2512 ท่านได้ไปปักกลดธุดงค์ที่ภูทอก ชาวบ้านนาคำแคน จึงได้นิมนต์ให้ท่านพำนัก ณ ภูทอก อีกไม่นานท่านได้ชวนชาวบ้านสร้างทางเวียนขึ้นไปบนภูทอก ทำให้การขึ้นไปจำวัดที่ชั้น 5 ของท่านสะดวกมากยิ่งขึ้น
ไม่ต้องปีนป่ายไปตามเถาวัลย์ดังที่เคยอีกต่อไป
ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่ยังไม่เจริญด้วยสิ่งก่อสร้าง ท่านต้องอาสัยหลุมบ่อในหินผาหาน้ำอุปโภคและบริโภค ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านให้สร้างฝายน่ำล้นขึ้น 2 ฝาย นับแต่นั้นมา ทั้งพระและฆราวาส ก็ได้น้ำไว้ใช้สอยอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ด้วยว่า รอบๆบริเวณนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้ใบบังหนาแน่น สิงสาราสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด
ไม่เว้นแม้แต่เสือที่ส่งเสียงคำรามก้องไพรในยามค่ำคืน
เพิงถ้ำบนภูทอก ท่านได้สร้างเป็นลานธรรม ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ ส่วน"ตุ้มนกทา"ท่านได้สร้างเป็นที่พำนักสงฆ์ เก๋ไก๋ไม่เบา
ดูๆไปแล้ว ภูทอก นี่ก็คล้ายๆ สำนักสงฆ์ในหนังจีนหลายเรื่อง ซึ่งอยู่บนเขาสูงเช่นวัดเส้าหลิน อยู่เชิงผาหน้าเสียวไส้ยิ่งเช่น วัดรังเสือในประเทศภูฏาน
ในแต่ละเทศกาลงานบุญ สาธุชนหลั่งไหลไปทำบุญทำทานกันมากมาย นั่นเป็นศรัทธาธรรมแห่งพระอาจารย์จวน แม้ว่าการเดินทางไปภูทอกช่างไกลแสนไกล
แต่เมื่อภาพถ่ายผ่านเลนส์ตากล้องมืออาชีพ ความสวยใสและแปลกตา ได้เพิ่มพูนนักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบการถ่ายภาพมุมแปลกๆ ในฤดูหนาวมักมีทะเลหมอกปกคลุมผืนป่าไม้ในบริเวณรอบๆวัด ช่างงามเหลือ และเมื่อฝนหลั่งก็ได้ภาพอีกมิติ
วันนี้ ภูทอกมิใช่เพียงพุทธสถานที่ปฏิบัติธรรม สายวัดป่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้กลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ(กำลังจะตั้ง) อย่างกว้างขวาง ทำให้เส้นทางที่ไปถึงอึกทึกครึกโครมมากยิ่งขึ้น ผลพลอยได้คือ ใกล้ๆกันนี้ ยังมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ให้เป็นฐานการตั้งแคมป์นอนได้ด้วย
ท่านล่ะ เคยไปหรือยัง แล้วท่านจะรออยู่ใย ฝนนี้ทะเลหมอกท้องฟ้าใสๆ ชวนถ่ายรูปนะคร๊าบ
การเดินทาง นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพ-จ.หนองคาย แล้วเช่ารถยนต์ขับไปเที่ยวเลาะเลียบแม่น้ำโขง ไปจนถึงอ.บึงกาฬ แล้วเลี้ยวไปยังภูทอก น่าจะสนุกและได้บรรยากาศมากกว่า นอกจากนี้ เมื่อกลับมายังหนองคายยังไปไหว้พระใสที่วัดโพธิ์ชัย และวัดแก้วกู ดูรูปปั้นแปลกๆ ได้อีกด้วย