ใครสร้างปราสาทเมืองสิงห์:กาญจนบุรี
ณิชาวดี เรื่อง-ภาพ
วันหยุดเสาร์อาทิตย์ วันหนึ่งต้องทำงานบ้านให้เรียบร้อย เหลืออีกวันหนึ่งจะไปทำอะไรได้บ้าง ไปอยุธยาเที่ยววัดวาหรือวังเวียง ก็ไปมาหลายแหล่งเต็มที สมาชิกบ่นเบื่อ จะไปเที่ยวน้ำตกสาริกา นครนายกหรือ น้ำหยดยังกับก็อกน้ำประปา กทม. หันหลังกลับอีกทีไปเมืองกาญจนบุรี ทิศตะวันตกดีไหม น้ำตกเอราวัณหรือ ไปกันมาจนจำปลาได้ทุกตัว เอ้า ไปเที่ยวโบราณสถาน ศิลปะ สถาปัตยกรรม และประติมากรรม ที่น่าเคลือบแคลงว่าใครสร้างกันหนอ จะดีไหม
คำตอบอยู่ที่มีเวลาวันเดียวต้องกลับมาทำงานและเรียนหนังสือกันต่อ โอเค ไปก็ไป
โบราณสถานหมายเลข 1
ตกลงกันแล้วก็ขับรถยนต์กระป๋องของครอบครัว มุ่งไปด้วยอัตราเร่ง 90 กม.ต่อชม.เพื่อความปลอดภัยและประหยัดน้ำมันที่แพงเหลือหลาย เส้นทางที่ไปใช้กรุงเทพ-นนทบุรี-ลาดหลุมแก้ว(แยกนพวงศ์)-บางเลน-กำแพงแสน-พนมทวน-บ้านเก่า กาญจนบุรี-ปราสาทเมืองสิงห์ ระยะทาง135 กม. ใช้เวลาเดินทางสบายๆ 2 ชั่วโมง แวะเข้าห้องน้ำลดน้ำหนักที่ปั๊มชานเมืองก่อนมุ่งหน้าข้ามสะพานไปบ้านเก่า และแล้วก็ถึงปราสาทเมืองสิงห์สมใจ เวลากำลังดี
ด้านทิศตะวันออกของปราสาท
มองไปเบื้องหน้าเห็นปราสาทตั้งตระหง่านอยู่กลางสนามหญ้าและร่มไม้ไพรพฤกษ์สะพรั่ง และแล้วก็ดุ่มเดินเข้าไปยืนแอคท่าถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่จะปล่อยวางต่างคนต่างเดินเที่ยวชม ศิลปะ ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ตามความชอบ ส่วนณิชาวดีคนมีกึ๋น(โม้ซะไม่มี) เดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อขอแผ่นพับแจกและชมศิลปะต่างๆที่ยังเก็บไว้ในอาคาร(จำลอง)
ด้านข้างทิศใต้
ไม่มีใครรู้เลยว่า ปราสาทเมืองสิงห์สร้างโดยใคร สร้างขึ้นเมื่อไร สร้างทำไม และที่สงสัยกันนักหนาว่า ชาวสยามสร้างหรือว่าขอมสร้าง ทั้งหมดทั้งมวลไม่กี่ประเด็นนี้ หาคำตอบเลาๆได้จากเรื่องราวต่อไปนี้ ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละคนค่ะ แต่ถ้ามีกรณีศึกษากันอย่างจริงจังจนประจักษ์แจ้งเมื่อใด ค่อยมาฟังกันอีกทีนะคะ
ปรางค์ประธานด้านตะวันตก
เจ้าชายวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7(พ.ศ.1720-1780) ทรงจารึกลงบนแผ่นศิลาจารึกจากปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร กล่าวถึงชื่อเมืองทั้ง 23 เมืองที่พระบิดาของพระองค์ทรงสร้างไว้ 2 ใน 23 เมืองดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของสยามประเทศคือ ศรีชัยสิงห์บุรี ที่ยอมรับกันว่าน่าจะเป็นปราสาทเมืองสิงห์นี่แหละ ส่วนอีกเมืองหนึ่งคือ ละโวธยปุระ ที่ยอมรับกันแล้วว่าน่าจะเป็นเมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งมีพระปรางค์สามยอด เป็นสมมติฐาน สถาปัตยกรรมรูปแบบขอม วัสดุที่ใช้เป็นศิลาแลงเช่นกัน
ภาพใกล้ปรางค์ประธาน
สืบค้นได้ความอีกว่า ในช่วงกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยังไม่ปรากฎชื่อเมืองสิงห์ในทำเนียบศักดินาเมืองแต่อย่างใด หากแต่ปรากฎว่ามีเมืองศรีสวัสด์ เมืองปากแพรก และเมืองไทรโยค เป็นเมืองหน้าด่าน ครั้นลุล่วงผ่านกรุงธนบุรีมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ตั้งเมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน เรียกกันว่า รามัญเจ็ดเมือง ด้วยว่าชาวรามัญอพยพหนีภัยพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ระเบียงคต
หลังจากนั้น ปราสาทเมืองสิงห์ก็ยังซุ่มซ่อนอยู่ในดงแมกไม้ไผ่ล้อมรอบจนมองหาแทบไม่เห็น ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน ให้มีตำแหน่งเป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่แล้วกาลเวลาที่ผ่านไปจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปรูปแบบการปกครองให้เป็นมณฑล เมืองสิงห์ถูกลดชั้นลงเป็นเพียงตำบลสิงห์ ตราบทุกวันนี้
โยนี เกร็ง....โอยเหนื่อยๆ
มีการค้นพบปราสาทเมืองสิงห์อีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.2478 ปรักหักพังอยู่ใต้ต้นไม้ที่บดบัง ในการขุดค้นพบพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา นอกจากนี้ยังพบพระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งศิลปะ พุทธประติมากรรมโบราณวัตถุเหล่านั้น คล้ายคลึงกับที่ขุดค้นพบในประเทศกัมพูชา แต่ก็ยังไม่มีการประกาศว่า แท้จริงแล้วปราสาทเมืองสิงห์ใครสร้างกันแน่ ขอมหรือสยาม ช่างฝีมือเป็นใครระหว่างขอมกับชาวสยาม ศิลปะและประติมากรรมหลายอย่างก็ยังน่าเคลือบแคลง ที่สำคัญไม่รู้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
เอวบางอ่อนระแน้ ลายเข็มขัดงาม
จนเวลาล่วงเลยมาถึงพ.ศ.2517 จึงมีการบูรณะขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ปีพ.ศ.2530 ได้บูรณะโดยกรมศิลปากรจนได้รูปทรงที่สวยงามดังที่เห็นๆกันอยู่ทุกวันนี้ แหม คิดดูเอาเถอะนะคะว่า กองอิฐปรักหักพังเป็นภูเขาเลากา กลับปรับปรุงจนกลายเป็นปราสาทราชมณเฑียรยังไงยังงั้น เวลาน้อยลงทุกขณะ อย่ากระนั้นเลยรีบเดินและหาข้อมูลด่วนดีกว่า
ปราสาทเมืองสิงห์กว้าง 800 เมตร ยาว 850 เมตร กำแพงโดยรอบสูง 7 เมตร แต่ด้านทิศเหนือเป็นลำแม่น้ำแควน้อย ประตูเข้าออก 4 ประตู มีสระนำ 6 สระ ส่วนภายในปราสาทประกอบด้วยโบราณสถาน 4 แห่งที่ขุดค้นพบ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือ
ภาพที่เห็นข้างบนนี้ เป็นโบราณสถานหมายเลข 1 มีปรางค์ประธานที่บูรณะแล้วดูรูปทรงได้ชัดเจนคล้ายหอสูงรูปฝักข้าวโพด ตั้งอยู่บนฐานย่อมุม 20 ขนาดกว้างและยาวด้านละ 13.20 เมตร มีมุขยื่นออกไปรับกับมุกโคปุระทั้งสี่ทิศ แต่มุขตะวันออกยาวกว่ามุขทั้สาม ระเบียงคต 4 ด้าน โคปุระสี่ด้านแต่เข้าปรางค์ประธานได้ทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ระเบียงคดเป็นอาคารที่ล้อมรอบองค์ปรางค์ประธาน ด้านเหนือและด้านใต้ยาวด้านละ 42.50 เมตร ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกยาวด้านละ 36.40เมตร บรรณศาลาหรือบรรณาลัยเป็นอาคารเล็กๆ กว้าง 4.50เมตร ยาว 5.50 เมตร เป็นที่เก็บตำราหรือคัมภีร์ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา กำแพงแก้วกว้าง 81.20 เมตร ยาว 97.60 เมตร มีประตูเดียวทางทิศตะวันออก มีศิวะลึงค์และโยนีสถิตอยู่ภายในเป็นจุดๆ
โบราณสถานหมายเลข2
หลังปรางค์ประธานโบราณสถานที่ 1 มีฐานศิลาแลงเตี้ยๆ ขนาดกว้าง 33.90 เมตร ยาว 54.20 เมตร รูปลักษณ์เดียวกับโบราณสถานหมายเลข 1 แต่เนื่องจากปรักหักพังมากจึงบูรณะได้เพียงเท่าที่เห็น โยนีและศิวะลึงค์ เห็นอยู่เช่นกัน นี่แหละโบราณสถานหมายเลข 2
มีข้อสัณนิษฐานกันว่า โบราณสถานทั้งสององค์นี้ น่าจะเป็นศาสนสถานสำคัญ ว่ากันว่าเป็นพุทธมหายานตามที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเลื่อมใสและศรัทธา แต่ก็เป็นเพียงข้อสัณนิษฐาน
โคปุระ
โอ้...มาเที่ยววันเดียวแล้วต้องกลับบ้านที่กรุงเทพ เหนื่อยนะ เวลาน้อยก็ได้รับรู้ข้อมูลน้อย ทั้งๆที่ปราสาทเมืองสิงห์ยังมีหลุมขุดค้นมากมายหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมกรายเลย เช่นโบราณสถานที่ 3-4 และหลุมกระดูกมนุษย์โบราณที่พบว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี นั่นก็คือหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมืองสิงห์เป็นแหล่งชุมชนที่มีอารยะธรรมเก่าแก่มาก่อน
ระหัสจดจำ กาญจนบุรี บ้านเก่า ปราสาทเมืองสิงห์ ตรึงใจไม่ลืม ผ่อนคลายมากๆเมื่อได้ไปนั่งกินอาหารในแพริมน้ำแควแถวๆหน้าเมือง
แต่ก็เหนื่อยจริงๆ ค่ะกว่าจะกลับถึงบ้านที่เป็นวิมานของเรา