เที่ยวปราสาทหิน ถิ่นว่านจักจั่น
“พรหมพร พานิชกิจ”
บนเส้นทางศรีสะเกษ-สุรินทร์ เราพากันเดินทางสู่ปราสาทหินที่กรมศิลปากรเพิ่งขุดค้นใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ป้ายบอกทางจึงแทบมองไม่เห็น ต้องโทรถามหนูจิ๊บเพื่อนที่ทำงานอยู่พิพิธภัณฑ์อุบลฯตลอด กว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ตรงไป ผ่านทุ่งนาป่าดงไปพบเจอเส้นทางที่ต้องการได้ จึงมุ่งหน้าไปยัง ปราสาทหินบ้านปราสาท
แล้วพวกเราก็มาถึงวัดปราสาทพนาราม ที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่เป็นดง ให้ความร่มรื่นสดชื่นกับกลิ่นป่าไม้ใบไม้ที่เพิ่งผ่านน้ำฝนมาเมื่อคืน
รถเลี้ยวเข้าสู่หมู่บ้านชื่อบ้านธาตุ ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านหมู่บ้านเข้าสู่ประตูวัด ผ่านดงไม้เข้าไปมองเห็นปราสาท 3 องค์ที่เรียงกันเป็นแถว ดูน่ากลัว น่าเกรงขาม แต่ก็มีเสน่ห์น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เขาบอกว่าปราสาททั้ง 3 องค์นี้เป็นที่ประดิษฐาน เทพเจ้าตรีมูรติ ของขอมโบราณ เช่นเดียวกับ ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะส่วนของหลังคา มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีขนาดสูงกว่า ประกอบปรางค์ด้วยอิฐ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ – ใต้ มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตู ก่อด้วยอิฐ และศิลาแลง
จากการวิเคราะห์ของ คุณเบจลักษณ์ รุญเจริญ บอกว่าปราสาทบ้านปราสาทนี้ สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปะร่วมแบบปาปวน ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยังอยู่ในสภาพดีแต่ก็โย้เย้จนต้องมีโครงเหล็กค้ำยันไว้ด้านข้าง ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น โคปุระ และกำแพงนั้นพังลงมา และชิ้นส่วนบางอย่างหายไป ตัวบรรณาลัยเหลือแต่ฐานศิลาแลงให้เห็น ดูน่าใจหาย ทางเดินเชื่อมระหว่างโคปุระด้านทิศตะวันออกสู่ตัวปราสาทนั้นเพิ่งได้รับการขุดแต่งเพราะเคยจมอยู่ใต้ดินมาก่อน เช่นเดียวกับฐานที่ตั้งตัวปราสาทชั้นล่างสุด
ใกล้ ๆ กันนั้นมีโบสถ์หลังใหญ่กำลังก่อสร้าง มีช่างจำนวนหนึ่งปีนไต่ไปมุงหลังคา ใต้เงาแมกไม้ในดงที่อยู่ล้อมปราสาทมีกุฏิ ศาลา ตั้งอยู่เรียงรายภายในวัดเงียบสงบ ไม่เห็นมีพระเณร
แต่ไม่นานก็มีพระหลวงพี่ซึ่งมีนามว่า หลวงพี่มงคล ท่านมาแนะนำ และพาไปดูหลุมที่ขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุมากกว่าพันปี ที่ขุดพบมาไม่นานมานี้ ซึ่งลึกถึง 12 เมตร ลึกลิบจนมองไม่ออกว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ หรือกองดินที่ด้านล่างนั้น
สักพักพระหลวงพี่ก็นั่งลงที่ข้าง ๆ โพนดินตรงข้าง ๆ หลุมขุดค้นนั้น มองหาอะไรสักอย่าง พอเจอรูเล็ก ๆ ท่านก็ใช้มือเขี่ยที่ข้างรูที่เหมือนรูงู ซึ่งมีขนาดรูเท่ากับเหรียญห้าบาท ค่อย ๆ กวาดดินออกรอบ ๆ แล้วก็ดึงอะไรสักอย่างขึ้นมาอย่างดีใจ พร้อมกับบอกพวกเราว่า
ว่านจั๊กจั่น
เราก็เพ่งมองไปที่มือพระหลวงพี่ สิ่งที่เรามองเห็นก็คือ ตัวจักจั่น แต่ที่แปลกประหลาดนั้นก็คือ เจ้าตัวจักจั่นที่มองเห็นนี้มีเขางอกออกมาที่หัวเหมือนรากต้นไม้ จะเป็นพืชก็ไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ดู ๆ ก็เหมือนหัวว่าน ที่มีหน้าตาเป็นตัวแมลง ซึ่งพระหลวงพี่บอกว่าเป็นของดีชาวบ้านแถวนี้มักขโมยมาขุดอยู่เสมอ เพื่อนำไปทำเครื่องรางของขลังเมตตามหานิยมแล้วนำไปขาย ซึ่งนิยมกันเป็นคู่และมีราคาสูงถึง 1พันบาทขึ้นไป ยิ่งถ้าได้ผ่านการสวดทำพิธียิ่งมีราคาสูง ตามที่เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ว่ามีเสียงร้องออกมาจากเจ้าจักจั่นนี้ มีราคาถึง 5 แสนบาททีเดียว
พวกเราก็เลยขอบูชาจากท่านด้วยเงิน 2 ร้อยบาท ท่านไม่ว่าอะไรแถมให้อีกหนึ่งตัวเพื่อนำมาให้คนอื่นดูกันว่าแท้จริงเป็นตัวจักจั่นจริง ๆ ไม่ใช่พืชให้รู้ไว้ จะได้ไม่ถูกหรอก คงเป็นแค่ของแปลกตา แต่ไม่ใช่ของวิเศษอันใด และก็อดลุ้นฝันกลางวันไม่ได้ว่าเจ้าตัวจักจั่นที่บูชาวันนี้อาจจะมีเสียงร้อง แต่ถ้ามันร้องจริง ๆ พวกเราก็จะเป็นเศรษฐีเงินล้านเลยนะนี่
ว่านจักจั่นชนิดนี้ เมื่อปีกลายมีพบหลายที่ในประเทศไทย เช่น ที่โคกผาขาม
อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ที่ป่าช้าหลังวัดบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ป่าช้าวัดป่านาสีนวล อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น และ เคยมีที่ภูเขาควาย ประเทศลาว ที่เทือกเขาแดนลาว ชายแดน ไทย-พม่า บ้างเรียกว่า “ว่านดักแด้” บ้างเรียก “ต่อเงินต่อคำ” บ้านเรียก “ว่านเรไร”
จากที่หลวงพี่พาเดินดูทำให้เป็นที่น่าสังเกตว่า บริเวณที่มีรอยขุด เขี่ย หาตัวจักจั่นนั้นเป็นที่ชุ่มชื้นใต้ต้นไม้ใหญ่ และเวลานี้เป็นช่วงฤดูฝนที่ตามธรรมชาติของวงจรชีวิตจักจั่นซึ่งแม่ของมันไข่ไว้ใต้ดินแต่ปีที่แล้วฟักตัวมาจนเป็นระยะตัวดักแด้ กำลังสร้างปีกเพื่อจะกลายเป็นตัวแมลงจักจั่นเต็มวัยแล้วผุดโผล่ขึ้นมาจากดิน ดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติของมันต่อไป แต่จักจั่นพวกนี้มีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ยังไม่มีผู้พิสูจน์ได้ว่าทำไมมันจึงกลายเป็นหัวว่าน มีราก มีกิ่งงอกออกมาแทนปีก
นักวิจัยบางสำนักบอกว่ามันเป็นเชื้อรา และเป็นอันตราย มีผลต่อคนเป็นภูมิแพ้
ให้ระวังในการจับต้องด้วย หลายท่านที่ถูกหวยก็ถือเป็นโชคละ