เกาะเกร็ด :มนต์เสน่ห์ไม่มีวันจาง
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ต้นเหตุที่เกิดเกาะเกร็ดคือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือพระสรรเพชญ์ที่ 9 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นโอรสองค์โตของพระเจ้าเสือ หรือพระสรรเพชญ์ที่ 8 มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเพชร มีพระอนุชาชื่อเจ้าฟ้าพร (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทรงพระนามาภิไธยเต็มๆว่า สมเด็จพระภูมินทรมหาราชาท้ายสระ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงขึ้นครองราชระหว่างปีพ.ศ.2251-2275 รวมเวลา 24 ปี พระอัครมเหสีมีนามเดิมว่าเจ้าฟ้าทองสุก (กรมหลวงราชานุรักษ์) พระองค์ทรงมีพระสมัญญานามว่า พระเจ้าทรงปลา ด้วยว่าทรงโปรดรับประทานปลาตะเพียนมากเป็นพิเศษ
พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเสวยปลาตะเพียนมากจนตราพระราชกำหนด ห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากมันผู้ใดขัดขืนฝ่าฝืนมีบทลงโทษปรับเป็นเงินถึง 20 บาท หรือ 5 ตำลึง แต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้เป็นผู้ทรงปราดเปรื่องเรื่องการค้าขายกับชาวต่างชาตินัก พระองค์ทรงแต่งราชฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนถึง 4 ครั้ง แต่งเรือสำเภาออกไปค้าขายกับชาวมะริด จนถึงแอฟริกาตอนเหนือ
เกาะเกร็ด เกาะพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงสร้าง
ด้วยเหตุผลในการแต่งสำเภาไปค้าขาย จึงได้พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยานั้นคดเคี้ยวหลายแห่ง ทำให้การเดินเรือสำเภาชักช้าและเกิดเหตุขัดข้อง ด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์จึงทรงให้ระดมไพร่ทาสถึง 10,000 คน ไปขุดคลองลัดหลายแห่ง เพื่อให้การเดินเรือสำเภาออกไปค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่นขุดคลองมหาไชยเรียบร้อยแล้ว จึงได้ให้ขุดคลองลัดบ้านบางบัวทอง กว้าง 3 วา ลึก 6 ศอก ระยะทางยาวถึงกว่า 29 เส้น(1 เส้น 80 เมตรหรือ 40 วา) เรียกชื่อคลองนี้ว่า "คลองลัดเกร็ดน้อย" แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2265 แต่ด้วยกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้น คลองลัดเกร็ดจึงกว้างและลึก พื้นที่ดินตรงบ้านแหลมจึงกลายเป็นเกาะเกร็ดตราบเท่าทุกวันนี้
เตาเผาแบบหลังเต่า
เกาะเกร็ด(บ้านแหลม) มีพื้นที่ 2,498 ไร่ ประชากร 5,781 คน เชื้อสายไทย 50% (ม.2-3-4-5)เชื้อสายมอญ 42%(ม.1-6-7 และม.5 บางส่วน) และเชื้อสายอิสลาม 8%ชุมชนตามชายน้ำ หมู่บ้าน 7 หมู่ ได้แก่ บ้านมอญ บ้านศาลากุล บ้านคลองศาลากุล บ้านคลองสระน้ำอ้อย บ้านท่าน้ำ บ้านเสาธงทอง บ้านโอ่งอ่าง วัดสำคัญมีหลายวัดเช่นวัดปรมัยยิกาวาส วัดฉิมพลี วัดศาลากุล วัดป่าเลไลย์ วัดไผ่ล้อม และวัดเสาธงทอง
ริมถนนแคบในเส้นทางจากสะพานพระราม 4 ไปวัดสนามเหนือ
ทีนี้ก็จะเล่าว่า ประชากรไทย,มอญและอิสลามที่อยู่ร่วมกันมาอย่างผาสุกในเกาะเกร็ดนั้น ชาวมอญเป็นผู้อพยพมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยต้นเหตุเกิดแต่ พระเจ้ามังระ พระเจ้ากรุงหงสาวดีทรงกริ่งเกรงว่า พระเจ้าตากสินสามารถกอบกู้แผ่นดินคืนได้ก็เกรงว่าจะกล้าแกร่งมากขึ้น จึงทรงบัญชาให้ ปะกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ นำทัพพม่า 500 คน เกณฑ์ชาวรามัญ(มอญ)อีก 3,000 คน
เจดีย์มุเตาจำลองมาจากเมืองหงสาวดี
โดยให้ แพกิจจา เป็นนายทัพคุมทหารเพื่อเข้ามาจัดหาเสบียงและเบิกทางให้ทัพใหญ่ที่จะยกมาตีกรุงธนบุรีอีกครั้ง โดยผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนปะกันหวุ่นนั้นอยู่ที่เมาะตะมะ แต่ในการเกณฑ์ผู้คนและเสบียงของปะกันหวุ่นและแพกิจจาสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับชาวมอญมาก แม้ว่าจะตั้งให้ชาวมอญ ได้แก่พระยาเจ่ง เป็นผู้นำในการเกณฑ์
ในที่สุดพระยาเจ่งและพวกมอญทั้ง 3,000 คน ได้ฆ่าพม่า 500 ตายสิ้น แล้วยกทัพ 3,000 คนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสิน จึงทรงโปรดให้มอญเหล่านั้นมาอยู่ที่นนทบุรีและสามโคก ปทุมธานี
พระประธานในโบสก์วัดปรมัยฯ
มอญเกาะเกร็ดคือเชื้อสายชาวมอญพระยาเจ่ง ครั้งที่สองอพยพมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินธ์ ภายใต้ร่มเศวตฉัตรมวลชนชาวรามัญ ไทย และอิสลามอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสืบมา
วันนี้ เกาะเกร็ดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีวัฒนธรรมประเพณีหลากสีสัน หลากวิถีชีวิต หลากความเชื่อที่ชวนให้ศึกษาหาความรอบรู้ เป็นเกาะมหัศจรรย์ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมากที่สุด เป็นเกาะที่ถ้าได้เดินท่อมๆท่องเที่ยวไปไม่มีเดียวดาย
ภาพทรายมีขายกลางเกาะเกร็ด
ผมนั่งรถแท็กซี่ไปลงที่ใต้สะพานพระรามสี่ อันเป็นสะพานใหม่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสะพานที่เชื่อมต่อมาจาก 5 แยกปากเกร็ด ที่เคยตีบตัน ถ้าจะข้ามฟากตรงข้ามต้องลงเรือ แต่วันนี้มีสะพานทอดยาวสะดวกยิ่ง เสน่ห์ที่เพิ่มขึ้นคือ ใต้สะพานพระรามสี่ ได้กลายเป็นลานนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือชั้นดี ลมพัดเย็นสบายด้วย ผมนั่งบนเสื่อกกกินก๋วยเตี๋ยวไปสองชาม อิ่มแปร้ นั่งผึ่งพุงดูหนุ่มๆตกปลาอยู่ที่ท่าน้ำ พอคลายท้องก็ตัดใจลุกเดินไปตามถนนแคบๆในตลาดปากเกร็ด มีเรื่องราวน่าสนใจให้ชมตลอดทาง จนไปทะลุวัดสนามเหนือ จึงลงเรือข้ามฟากไปเกาะเกร็ด
ก๋วยเตี๋ยวเรือใต้สะพานพระราม 4 ในเส้นทางเดินตลาดปากเกร็ด
ขึ้นฝั่งวัดปรมัยยิกาวาส จ่ายเงินไป 2 บาทเป็นค่าเรือโดยสาร พลันสายตาผมพุ่งไปเห็นความวุ่นวายจากปริมาณ นักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนเกาะเกร็ด มีตั้งแต่คนแก่คนเฒ่า คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ และแม่บ้านพ่อเรือน อุ้มลูกจูงหลานมาท่องเที่ยวกันมาก เดินไปหน้าวัดปรมัยยิกาวาส เข้าไปกราบพระประธาน แล้วบันทึกภาพไว้ชม ได้โอกาสเมื่อไร จะเล่าเรื่องวัดบนเกาะเกร็ดอีกสักตอนหนึ่งให้ได้ความกระจ่างแจ้งครับ
เรือข้ามฟาก วัดปรมัยยิกาวาส
ผมเดินเลาะเลียบไปเรื่อยๆ ผ่านร้านรวงมากมายหลายหลาก ร้านหนึ่งอยู่ต้นทางขายประเภทดอกไม้ชุบแป้งทอด เช่นดอกเข็ม ดอกเฟื่องฟ้า ดอกสลิด ดอกแคบ้าน ดอกอัญชัญสีม่วง น้ำจิ้มออกรสหวาน ในจำนวนนี้มีการทอดมัน "หน่อกะลา" เหมือนทอดมันปลากรายทั่วไปเพียงแต่แทนที่จะผสมด้วยถั่วฝักยาวหั่นซอย ก็ใส่หน่อกะลา พืชอายุหลายปีประเภทเดียวกับขิงข่า กินแล้วช่วยให้ระบายท้องและขับลมได้ดี
ทอดมันหน่อกะลาและดอกเข็มชุบแป้งทอด
ผมซื้อมาลองกิน 20 บาท เดินไปก็จิ้มกินไปด้วย ใครจะว่าอะไรผมหรือ ในเมื่อผมเป็นนักท่องเที่ยวแก่ๆ ที่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ปล่อยวางทุกอย่างให้สบายๆในวันว่าง นี่คือสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องพึงระลึกว่า เรามาท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายหายเครียด อะไรที่เคยเก๊กๆ หรือเกร็งๆ วางท่าทำทีเป็นผู้ดีมากนักก็ปล่อยวางเสียบ้าง จะได้หายตึงเครียด อีกอย่างหนึ่งผมเดินจิ้มกินไปก็สอดส่ายสายตาดูสิ่งละอันพันละน้อย ได้จังหวะก็กดชัตเตอร์กล้องเก็บภาพไว้ในไฟล์ แต่ไม่ขว้างขยะใส่หัวใคร เว้นแต่โยนใส่ถังขยะเรียบร้อย ไม่ผิดเนาะ
ทองม้วนสด กับ สิ่งประดิษฐ์
ถ้าไม่เชื่อว่าผมเดินไปกินไปแล้วก็ถ่ายรูปไปด้วย ก็โปรดพิจารณาจากภาพที่ลงประกอบเรื่อง ชายวัยกำลังดีคนหนึ่งท่าทางเหมือนคนมีความรู้ ใส่เสื้อผ้าสบายๆ คล้ายเสื้อหม้อฮ่อม กำลังทำขนมทองม้วนสดอยู่อย่างตั้งใจ เผลอคงไหม้ไปกับมือ อีกคนหนึ่งกำลังหยิบจับวัสดุที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจำหน่าย
แต่คุณยายคนหนึ่งเข็นรถใส่ผักมาขาย ให้หลานตัวเล็กๆน่ารักเป็นพรีเซ็นเตอร์ โบกไม้โบกมือทักทายนักท่องเที่ยว ขายได้วันหนึ่งสักกี่บาทก็คงไม่สำคัญเท่าได้ขาย
ช่วยยายขายของจ้ะ
บ้านมอญในเกาะเกร็ดมีตรอกซอกซอยเล็ก แคบ เพียงเพื่อเดินหากันได้ รถยนต์ไม่มีให้วิ่ง รถจักยานยนต์ก็หนวกหูแล้ว ส่วนรถเข็นหรือรถจักรยานส่งเสริมได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ถนนหนทางคับแคบเช่นนี้ ถ้าถึงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนก็ควรจะเว้นสักระยะ ในจำนวนบ้านเรือนคนมอญบนเกาะเกร็ดส่วนใหญ่ปลูกด้วยไม้สัก เป็นเรือนไทย สวยงามมาก
เรือนไทยไม้สักมีมากมายใหชม
บางช่วงผมเดินไปพบผู้หญิงสูงวัย ใส่เสื้อผ้าเรียบๆแบบชาวรามัญชราอยู่ที่หน้าบ้าน ข้างๆหล่อนมีโตกหวายใส่ขวดน้ำมันสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า หนุมานประสานกาย นวดให้หายเมื่อย หอมดี เห็นทีท่าแล้วก็นึกว่าส่งเสริมคนแก่ด้วยกันก็เลยซื้อมาสองขวด 80 บาท เหวี่ยงใส่เป้สะพายหลังเพิ่มอีกหนึ่งชิ้นส่วน
คุณยายขายน้ำมันนวดคลายเส้น
ขณะที่กำลังจะจากผู้สูงวัยก็พานพบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง หนุ่มสาวรุ่นใหม่ กำลังตั้งท่าบันทึกภาพวิดิโอคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งยืนวางท่าเท่ "พูด" นั่นละพิธีกร
"เป็นการถ่ายสารคดีเพื่อนำไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง"
กำลังถ่ายทำสารคดี
ผมเดินวนไปทางชายน้ำด้านทิศตะวันออกของเกาะ ผ่านบ้านหลังหนึ่งปลูกต้นไม้เลื้อยที่ไม่ใช่เถาวัลย์ในป่าแก่งกระจานแน่นอน มีดอกสีเหลืองสดใส ต้นไม้เลื้อยดอกสวยกับบ้านไม้ให้อารมณ์ความรู้สึกที่งดงาม อยากมีบ้านอย่างนี้ในเกาะเกร็ดสักหลัง แต่คงไม่มีปัญญามาซื้อแน่นอน "ขายกันแพงมากจ้ะ"
น้าอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟัง "หลังที่เห็นใกล้กันนั่นแหละค่ะ เขาปลูกไว้พักผ่อน มาอยู่เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น"
ผมได้ฟังแล้วก็เดินไปชมบ้านเรือนเขาฟรีๆดีกว่า
ผมส่งสายตาสอดส่ายไปจนพบกับถ้วยรางวัลและเหรียญตั้งเรียงไว้กับผนังบ้านเพียบ อดใจไม่ไหวกดกล้องบันทึกไว้ มองหาเจ้าของบ้านหลังนี้ก็ไม่มีผู้คนจึงเดินไปสอบถามข้างบ้าน ได้ความว่า
"ลุงเจ้าของบ้านเป็นนายท้ายเรือท่องเที่ยวรอบเกาะเกร็ด เขาเป็นนักวิ่งมาราธอนหรืออะไรนี่แหละ ได้ถ้วยก็วางๆไว้พร้อมเหรียญ ได้มาเยอะ อย่างที่เห็นน่ะยังไม่หมดนะคะ"
แต่มีบ้านอยู่หลังหนึ่งครับ เขาดัดแปลงเป็นร้านอาหารประเภทสเต๊ก-กาแฟสด นั่งห้อยเท้าแช่น้ำ กลิ่นกาแฟสดลอยมาหอมชวนดื่ม เห็นบรรยากาศแล้วเสน่หาเลย อยากนั่งนานๆ ดูในภาพจะเห็นลูกค้ามานั่งเสวนากันไปดื่มกาแฟไป แถมมีปลั๊กให้เสียบคอมพิวเตอร์ นั่งทำงานสักครูท่าจะดี เป็นแนวคิดที่แปลกแหวกแนวและสรรสร้างความน่าพิสมัยได้เยอะ เห็นเช่นนี้แล้วใครจะลอกเลียนแบบก็คงไม่มีใครว่ากันหรอก
ร้านเค้าสดชื่นได้ต้นไม้ร่มรื่น บรรยากาศการนั่งแช่เท้า สุขสม
บนเกาะเกร็ด ชุมชนชาวมอญ ยังยึดถือศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อเยี่ยงบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเรื่องธัมมะธัมโม เป็นสรณะเชียวครับ เขายังนิยมกินข้าวแช่ กินแกงกล้วยดิบ กินทอดมันหน่อกะลา และเมื่อเข้าพรรษา หรือออกพรรษา ชาวรามัญจะร่วมกันสืบสานตำนานความศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
เช่นประเพณีการตักบาตรพระร้อย ตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรน้ำผึ้ง แห่หางหงส์ธงตะขาบ ตามฤดูกาลที่ยึดถือสืบมา
เจดีย์ริมน้ำเหนือวัดปรมัยยิกาวาส.จุดขายเกาะเกร็ด
คนหนุ่มเมื่ออายุครบ 20 ปี นิยมอุปสมบททดแทนพระคุณบิดามารดรเสมอ ถ้าผมได้เรื่องและภาพงานบวชของชาวรามัญมาเมื่อไรก็จะนำมาโพสท์เล่าสู่กันฟังอีกครับ
แต่สำหรับวันนี้ ด้วยวัย 62 ปีเศษๆ ผมเดินจนเมื่อยเหลือกำลัง หัวเข่า น่อง และไหล่ปวดหนึบๆ คงต้องกลับสู่เคหาให้ภรรยาทาถูทาถู ด้วยน้ำมันที่ซื้อมาสองขวด(กระปุก)
"หนุมานประสานกาย"
ให้หายเครียดเสียแล้ว สวัสดี