สิบสองปันนา:ดินแดนแห่งหงส์ฟ้าพญามังกร
โดย อึ้งเข่งสุง ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์
ตอน1. การเดินทาง..นั่งเรือทวนน้ำ
ทำไมเรือล่องแม่น้ำโขงจึงปักธง 4 ธง คำตอบคือ แม่น้ำโขงเชื่อมโยงจากจีน -เมียนมาร์-ลาว-และไทย รวม 4 ประเทศ โดยเริ่มต้นจากเมืองซือเหมาล่องลงมาถึงเมืองกวนเล่ย ซึ่งเขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา(Xishuangbanna) ประเทศจีน เข้าเขตเมียนม่า ที่สบโหลย ลงมาอีกหน่อยเป็นด่านหัวของ ประเทศลาว ต่ำมาอีกก็เป็นเชียงแสน,เชียงของ ประเทศไทย จากนั้นก็ล่องไปยังเมืองปากแบ่ง และหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทาง 886.1 กม.
ธงชาติ 4 ประเทศ เรือสินค้าจากจีน
เมื่อปีพ.ศ.2536 ประเทศทั้งสี่ได้ลงมติเพื่อให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นต้องมีการระเบิดแก่งและกลุ่มหินใต้น้ำ เพื่อให้การเดินเรือระวางบรรทุก 100-500 ตันได้ สรุปว่าต้องระเบิดแก่งรวม 62 แก่ง 10 กลุ่มหินใต้น้ำ ซึ่งน่าจะได้ระเบิดไปเรียบร้อยแล้ว
แม่โขงเดลต้า เรือท่องเที่ยวไทยลำแรกในแม่น้ำโขง
แม่โขงเดลต้า เรือท่องเที่ยวลำแรกสัญชาติไทย
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ได้มีโอกาสเดินทางไป “วิ่งทวนน้ำ”ในแม่น้ำโขงกับ เรือแม่โขงเดลต้า ซึ่งเป็นเรือท่องเที่ยวแม่น้ำโขงลำแรกและลำเดียว ที่เป็นเรือสัญชาติไทย (เชื้อชาติจีนเพราะว่าต่อมาจากจีน) ของบริษัทแม่โขง เดลต้า แทรเวล เอเยนซี่ จำกัด (MaeKhong Delta Travel Agency)
ซึ่งบริหารงานโดยสุภาพสตรีคนเก่ง คุณ
กัปตันชิง เจ๊ติ๋ม กัปตันสีเพ็งและคุณมานพ
เจ๊ติ๋ม เล่าว่า แม่น้ำโขงมีส่วนแคบสุด 8 เมตร ร่องน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร จากเชียงแสนขึ้นไปจนถึง เมืองกวนเล่ย ด่านแรกของประเทศจีน ระยะทางกว่า 300 กม. ตั้งแต่ทำธุรกิจท่องเที่ยว เชียงราย-สิบสองปันนา หรือเชียงราย-หลวงพระบาง ถ้าต้องใช้เรือก็ใช้เรือของจีนสำหรับกลุ่มใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ใช้เรือลาว
ถ่ายจากบนดาดฟ้าเรือ แผนที่จากเขียงแสน-กวนเล่ย
ในแม่น้ำโขงช่วงเมืองซือเหมา ลงไปจนถึงหลวงพระบาง มีเรือขึ้นล่องทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือท่องเที่ยวเพียงสองสัญชาติคือจีนกับลาว เรือไทยไม่มีค่ะ (เคยมีรัฐมนตรีวัฒนา อัศวเหม ทำอยู่ระยะหนึ่ง แต่แล้วก็เลิกไป ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร) ตัดสินใจเมื่อปีก่อนนี้ สั่งจีนต่อเรือแม่โขงเดลต้า เรือลำนี้เป็นเรือท่องเที่ยวโดยเฉพาะ รองรับนักท่องเที่ยวได้ 120 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นบนแบบวีไอพี 30 ที่นั่ง ติดแอร์เย็นฉ่ำ ทีวีคาราโอเกะพร้อมระเบียงด้านท้ายชั้นสอง ส่วนอีก 90 ที่นั่งชั้นล่าง ติดแอร์เย็นฉ่ำเหมือนกัน มีคาราโอเกะพร้อมเช่นกัน ห้องสุขาชาย-หญิง
นั่งสบายๆ ชั้นสองของเรือ
ในแม่น้ำโขงระหว่างเชียงแสน-กวนเล่ย มีเรือของลาวขนาดเล็กวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่ 3 ลำ ช่วงเชียงของ-หลวงพระบาง ก็มีเรือโดยสารประจำทางของลาว ส่วน เรือแม่โขงเดลต้าคงไม่วิ่งประจำทาง เจตนาให้เป็นเรือเช่าเหมาลำโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว อาจจะหลายกลุ่มมารวมกันจนเต็มลำก็ได้ เน้นเลยค่ะ ใช้เพื่อการท่องเที่ยวสำหรับขาล่องจากกวนเล่ย-เชียงแสน หรือ จากเชียงของไป-กลับหลวงพระบาง
ป่าดงดิบสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง
อาจหยุดรับนักท่องเที่ยวจากน่าน(ห้วยโก๋น) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับปากแบ่งของลาว ด้วยก็น่าจะได้ คู่แข่งหรือคะ ดีซีจะได้เพิ่มปริมาณการใช้แม่น้ำโขงของไทยให้มากขึ้น เรือลำนี้คาดว่าสมบูรณ์เลยมูลค่าน่าจะราวๆ 15 ล้านบาท จุดคุ้มทุนน่าจะอยู่ที่ 3 ปี ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับ ขยันหรือขี้เกียจด้วย
ค่าใช้จ่ายช่วงเรือนี้น่าจะอยู่ที่ 750 หยวน/คน/เที่ยวค่ะ แต่ถ้าแพคเกจทัวร์ก็อยู่ที่ หมื่นเศษๆ สนใจหรือ สงสัยก็ติดต่อได้ที่ โทร.086-0352235 เจ๊ติ๋ม
นักท่องเที่ยวอิ่มเอมกับบรรยากาศ
คุณ
มาช่วยคุณติ๋มน้องสาวเขา กิจการเขาหลายอย่างเช่น ดิวตี้ฟรีเอย เอ็กพอร์ตอิมพอร์ต โรงแรม บริษัทท่องเที่ยว และครั้งนี้ ออกเรือท่องเที่ยวแม่น้ำโขง ผมก็มาช่วยด้านการจัดการเรื่องเรือ เรือลำนี้กว้าง5 เมตรยาว 41 เมตรกินน้ำลึก 70-80 ซม. เหล็กต่อเรือหนา 5 มม.ความจุถังน้ำมัน 3,000 ลิตร ระวางขนาด 100 ตัน ใช้เครื่องยนต์ 380 แรงม้า วางเครื่องคู่ สองเครื่อง หากเครื่องใดเสียอีกเครื่องก็ยังจะเดินได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั่นไฟ KPA. 1 เครื่อง
คุณภาวิณีย์ เจริญยิ่ง นสพ.มติชน คุณอ้อ ผจก.ท่องเที่ยวแม่โขงเดลต้าและน้องๆ
ถ้าวิ่งทวนน้ำความเร็วอยู่ที่ 15-18 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าล่องน้ำอยู่ที่ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากเชียงแสน-กวนเล่ย ราวๆ 320 กม. ความปลอดภัย มากกว่า 80%
การซ่อมบำรุงครั้งๆหนึ่งอยู่ระหว่าง30,000-50,000 บาท อายุใช้งานราวๆ 25 ปี กัปตัน สองคน คนหนึ่งเป็นคนจีน อีกคนหนึ่งเป็นคนลาว กัปตันจีนชื่อ เตาไห่ซิง กัปตันลาวชื่อ สีเพ็ง ลูกเรือ 7 คน ทั้งคู่มีความชำนาญเส้นทางขึ้นล่องแม่น้ำโขงมาก ประสบการณ์สูง
ฟังสองศรีพี่น้องแล้วก็รู้สึกมั่นใจในการเดินทางครั้งนี้
เห็นท้องฟ้า สายน้ำ และป่าเขา สุดสวย
ความสวยงามสองฝั่งโขง
เช้าตรู่ ตามกำหนดการ คณะพรรคลงเรือที่ท่าเรือเชียงแสน ก่อนลงเรือได้มีโอกาสไปเดินชมตลาดเช้าของเชียงแสน เป็นตลาดใหญ่มาก สินค้าก็มาก อดใจไม่ไหวก็ซื้อปาท่องโก๋ ซาลาเปา ไส้อั่ว ไก่ย่างและข้าวเหนียว ติดลงไปด้วย ลงเรือแล้วเลือกที่นั่งชั้นล่างของเรือได้เต็มที่ด้วยว่ามีผู้ร่วมเดินทางเพียง 18 คน ประกอบด้วย
สื่อมวลชน 5 ชีวิต ข้าราชการจากกรมฝีมือแรงงาน 2 คน(อ.พินิจ ประภากรวิไลกับอ.สมรวม มงคลแก้ว) ลูกเรือ 7 คน กัปตัน 2 คน ผู้จัดการเดินเรือและทีมอีก 2 คน
อากาศยามเช้าแสงแดดสดใส ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เปิดหน้าต่างเรือให้ลมเย็นพัดผ่าน ชื่นใจกว่าเปิดแอร์เยอะเลย เรือแล่นฝ่ากระแสน้ำที่ขุ่นแดงด้วยดินตะกอนปะปนอย่างมั่นคง นิ่งสนิท ไม่โคลเคลงให้หวาดเสียวใดๆ รู้สึกได้เลยว่า ปลอดภัย ได้บรรยากาศ และแปลกตาในสิ่งที่ได้ผ่านพบ
หมู่บ้านชาวเขาเผ่าอีก้อหรืออาข่าหรือไอนี่ ฝั่งลาว
พอเรือผ่านสามเหลี่ยมทองคำ ก็ชี้ชวนกันชม ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นระยะ ๆตามประสาคนช่างถ่าย(รูป) พอพ้นเขตเชียงแสนก็เข้าเขตประเทศเมียนมาร์ ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศลาวอยู่แล้ว สิ่งที่ผมเห็นเป็นป่าดงดิบมากมายทั้งสองฝั่ง นานๆจะพบหมู่บ้านสักแห่ง ไม่ฝั่งเมียนมาร์ก็ฝั่งลาว ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า อาข่าหรืออีก้อ หรือไอนี่ในภาษาจีน
ข้าวไร่บุกรุกป่าดงดิบ แต่ก็เพื่อความอยู่รอด
ส่วนพืชพรรณไม้ในป่าที่เห็นส่วนใหญ่เหมือนๆในป่าดงดิบของประเทศไทย แตกต่างกันมากๆก็คือ ป่าไม้ของทั้งสองประเทศเขายังอุดมสมบูรณ์อยู่มากกว่าป่าเขตประเทศไทย ซึ่งเหลือแต่ไร่ร้าง ร่อยรอย และภูเขาหัวโล้น แต่พอเรือแล่นทวนน้ำไปเรื่อยๆ ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สงบงามดุจสายน้ำ เคร่ง...กับข้อมูล
มีหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ บางหมู่บ้านดูเหมือนจะยังไม่พัฒนานัก รูปทรงโครงหลังคาเป็นแบบเดิมๆตามวัฒนธรรมการสร้างบ้านของเขา เช่นบ้านของอาข่า หรืออีก้อ หรือไอนี่ ก็ยังเหมือนลักษณะบ้านของเขา มุงด้วยหญ้าคา โครงสร้างไม้จริง และไม้ไผ่
ส่วนบางหมู่บ้านเปลี่ยนไป หลังคามุงด้วยสังกะสีก็มี กระเบื้องลอนคู่ก็มี
หวังว่า..วันหน้าป่าดงดิบผืนนี้จะยังอยู่
การทำมาหากินสองฝั่งโขงของชาวบ้านหรือชาวเขา ล้วนเป็นการทำกินโดยอาศัยน้ำฝน เป็นการเปิดป่าใหม่ด้วยการตัดต้นไม้ป่าต้นใหญ่น้อยลง ตากจนแห้งแล้วเผา ไฟไร่ล้มแล้ว มันไม้ได้ทำลายเฉพาะต้นไม้ที่ล้มตายแล้ว แต่ความร้อนแรงของไฟ ได้เผาผลาญต้นไม้ป่าที่อยู่ใกล้ๆอีกมากมาย ต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยตายเป็นเบือ ไร่ข้าวที่เห็นจึงมีไม้ป่ายืนต้นตายโด่เด่ผสมอยู่ด้วย คุณเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอย่างไรครับ
สีสันแตกต่าง.....มองดูสวยนะ..แต่ป่าหมดลงไป
ทั้งฝั่งประเทศเมียนมาร์และประเทศลาว มีสภาพคล้ายคลึงกัน ดูๆก็สวยงามดี แต่คิดแล้ว จะได้คุ้มเสียหรือไม่ ในประเทศไทยเหตุการณ์เช่นที่กล่าวถึงนี้ มีทั่วไปจนไม่เหลือไม้ใหญ่ให้เห็น เป็นภูเขาหัวโล้นนับหมื่นนับแสนนับล้านไร่ แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า พอป่าหมดเหลือแต่วัชพืชเขียวขจี คนไทยกลับบอกว่า แหม.สวยอย่างกับสวิสเซอร์แลนด์ไปโน่น อีกไม่นานเมียนมาร์และลาวอาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
ข้าวไร่สีทอง..สวยจับใจ ต้นไม้ป่ายืนต้นตาย
มีหลายแห่งที่ปลูกยางพาราทดแทน เป็นป่ายางพาราเขียวขจี ไปทั้งภูเขา บางแปลงต้นยางพารากำลังเติบโตอยู่ในไร่ข้าว บางแปลงต้นยางพาราโตแล้วปลูกข้าวไร่ผสมไม่ได้ แสงแดดไม่พอ แต่บางแปลงสวนยางพาราโตมากจนกรีดน้ำยางได้ ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการขายน้ำยางพารา มีเงินไปซื้อข้าว เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ซื้อทีวี มือถือ G3 และตู้เย็นด้วย
ปาล์มสิบสองปันนาแต่งแต้มหินผาริมโขง
นอกจากนี้ระหว่างการเดินทางบางครั้งก็ได้เห็นชายหาดสวยๆ เกาะแก่งที่เผชิญกับแรงกระแทกกระทั้นของน้ำอยู่ชั่วนาตาปี จนเกิดเป็นหินรูปร่างแปลกๆ สวยงามบ้าง ไม่สวยงามบ้าง แต่ธรรมชาติย่อมสร้างสรรค์ได้อย่างวิจิตรเสมอ ไม่เชื่อก็ลองพิจารณาภาพที่ผมถ่ายมาจากชายฝั่งแม่น้ำโขงนะครับ
ธรรมชาติสร้างสรรค์ได้งดงามเสมอ
เป็นสวนหย่อมที่แต่งแต้มด้วยต้นไม้ป่าผสมผสานกับต้นปาล์มสิบสองปันนาเหมือนว่าเทวดามาตกแต่งสวนไว้ให้ สวยกว่าหน้าทำเนียบรัฐบาลไทย และสวยกว่าสวนนงนุชก็แล้วกัน โดยเฉพาะหินผาริมสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงเกิดแต่ธรรมชาติ จึงมีรูปทรงสวยงามแปลกตากว่าที่ไหนๆ
บางก้อนเหมือนเต่ายักษ์แทรกอยู่กับสวนหย่อม น่าพิศวงนัก
สวนหย่อมที่สวยงามมากๆ มีให้เห็นตลอดสายน้ำ(โขง)
หรือแค่ยืนมองกระแสน้ำที่หัวเรือแหวกไปแหวกมา ก็ตื่นเต้นแล้ว บางจุดเป็นน้ำวน บางจุดเป็นแก่งหิน บางจุดมีมากจนเรือต้องเลี้ยวหลบไปหลบมา ฉวัดเฉวียนเอาการอยู่ (เรือเอียงวูบๆ) แต่นั่นก็ด้วยฝีมือของกัปตันเรือที่มีความชำนาญชาญฉลาดจริงๆ
บางครั้งนั่งอยู่เพลินๆได้ยินเสียงท้องเรือครูดกับแก่งหินใต้น้ำ ก็แค่สะกิดแผ่วๆ ไม่รู้สึกน่ากลัวแต่อย่างใด
ไม่ต้องจ้างสวนนงนุช แต่สวยยิ่งกว่า
ค่ำคืนในป่าเขา.....เงียบสงัด จนหลับใหลได้ฝัน
ตะวันลับเหลี่ยมเขาไปแล้ว ความมืดโรยตัวลงเป็นม่านคลุม แสงดาวระยิบพริบพรายเต็มท้องฟ้า พระจันทร์เสี้ยวแขวนเถิ่งในฉากดำทะมึน ลมเย็นยังพัดแผ่วผิวฟอกปอดได้เต็มอิ่ม พนักงานกำลังจัดเรียงโต๊ะเก้าอี้เพื่อใช้เป็น “กินข้าวบนนี้แหละนะ”
อาทิตย์อัสดงลงแล้ว รับประทานอาหารค่ำบนดาดฟ้าเรือลมพัดตึง
อาหารค่ำท่ามกลางแสงดาวและสายลม โรแมนติกซะไม่มี เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่ได้สัมผัส ช่างสุขสม นั่งเสวนากันหลังอาหารพอสมควร ก็ลุกแยกย้ายกันไปจับจองที่นั่งเช่นเดิม เรือยังแล่นหลบโขดเขินไปเรื่อยๆ ด้วยความชำนาญของกัปตัน แต่สำหรับผมแล้ว มีความรู้สึกว่า หวาดเสียว
“เรือแม่โขงเดลต้ามีเรดาร์จับทางให้แล่นหรือครับ”
คำตอบคือ “ไม่มีหรอก อาศัยความเชี่ยวชาญของกัปตันล้วนๆ” คุณมานพแย้มพรายให้หายข้องใจ
“แต่อีกสักครู่ คงหาที่จอดนอน วันนี้ได้นอนคืนแรกในต่างประเทศแล้ว”
แล้วเวลานั้นก็มาถึง เมื่อผ่าน “สบโหลย” ท่าเรือฝั่งพม่าที่มีเรือสินค้าจอดนอนหลายลำ แสงไฟจากเรือส่องสว่างเย้ายวนใจแมลงกลางคืน มันออกมาบินเล่นไฟกันเยอะมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นแมลงชนิดไหนบ้าง เรือของคณะเราแล่นไปอีกสักครูก็เทียบเข้าทางฝั่งประเทศลาว จุดจอดเป็นชายหาดทรายที่ทอดยาว แต่มืดมาก จึงไม่มีใครโดดลงไปเดินเล่น
ผ่านความสวยงามของเกาะแก่งและทิวเขา
ค่ำคืนที่เงียบสงบกลางป่า แสงไฟจากเรือของเรายังส่องสว่าง แมลงกลางคืนบินเข้ามา “เล่น” แมลงพวกนี้ท่าจะหลงแสงสีเหมือนกับใครบางคน ชอบไปนั่งซุ่มตามมุมมืดสลัวๆ แต่มีแสงไฟในราตรีที่เย้ายวนใจ
ในที่สุด เพื่อนของเราคนหนึ่งชื่อจำลอง บุญสอง บก.ท่องเที่ยว นสพ.โพสท์ทูเดย์ ก็เห็นเจ้าแมลงเล่นไฟเข้าจนได้ มันเกาะนิ่งอยู่ที่กระจกหน้าต่างเรือบนชั้นสอง กางปีกออกเต็มที่ มันคงสงสัยว่า ข้างในเรือเขาทำอะไรกันอยู่หรือ?
แมลงกลางคืนมาเยี่ยมยาม
ภาพสองภาพนี้ ธงชัยถ่ายเอง แฮะๆ ได้แค่นี้แหละครับ
เขาขยับจับขาตั้งกล้อง แล้วก็บันทึกภาพผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งซึ่งพวกเราไม่เคยพบเห็นในประเทศไทย มันมีปีกและลำตัวสีเขียวอมฟ้า ลวดลายสวยงามจับใจ ด้วยฝีมือช่างภาพระดับ 50 ช่างภาพหลวง บันทึกได้อย่างวิจิตร หลายท่า หลายมุม แล้วค่ำคืนที่เงียบสงบก็ชวนให้อยากหลับนอนพักผ่อนเต็มที เสียงหริ่งหรีดเรไรจากผืนป่าชายฝั่งโขงขับขานกันเพรียกไปทั้งราวไพร เป็นดนตรีป่าที่หาฟังได้ไม่ง่ายนัก ผมล้มตัวลงนอนหลับสนิท หลับจนฝันว่า ได้ไปเยี่ยมยามถามหาญาติที่แม่สายจนเจอ
หมอกอึมครึมนิดๆ
อรุณเบิกฟ้า ท่ามกลางริ้วรายในแม่น้ำโขง
เช้ามืด แสงสีทึมๆนอกหน้าต่างเรือดูหม่นด้วยสายหมอกบางๆ ผมลุกขึ้นไปชะโงกดู เห็นเทือกเขาฝั่งเมียนมาร์ดำทะมึนทึน แต่ที่ฝั่งชายหาดเห็นเพียงหาดสีนวลๆ เดินไปปล่อยของเสียที่ห้องสุขาชาย แล้วกลับมาล้มตัวลงนอนอีกครั้ง
“พี่..พี่..ลุก ขึ้นไปดูอะไรๆบนระเบียงเรือชั้นสองดีกว่า” จำลองปลุกตามวิสัยช่างภาพนอนดึกตื่นเช้าเฝ้าหามุมกล้อง
ชุมชนคนในป่าชายโขงมีให้เห็นเป็นระยะ
บนระเบียงชั้นสองของเรือแม่โขงเดลต้า หมอกจางๆโรยไหลรอบตัว สัมผัสได้ว่าเย็นชื่นใจ พลิกนาฬิกาคู่ใจกดปุ่มดูว่า 25.10 องศาเซลเซียส เหมือนอยู่ในห้องแอร์ แต่ขอโทษที มันเนี๊ยบกว่าเยอะเลย ได้สัมผัสอากาศสดชื่นที่เย็นกำลังดี ได้สูดหายใจเข้าช้าๆ แล้วค่อยๆปล่อยลมออก ผมก้มตัวลงจนจรดปลายนิ้วมือบนหลังเท้า แล้วก็เงยหงายมองท้องฟ้าสีหม่น บริหารร่างกายกลางแม่น้ำโขง
เฮอะ เชอะ จะมีใครได้โอกาสดีอย่างผมไหม?
วิถีชีวิตชาวบ้านริมโขง จับปลาหากิน
พอแสงสว่างเริ่มรำไร เห็นลายมือพอได้ ก็เริ่มต้นหามุมบันทึกรูปภาพกันตามประสาตากล้อง สักครู่ก็มีเพื่อนร่วมเดินทางทยอยกันขึ้นมาร่วมกลุ่ม อากาศสดชื่นอย่าบอกใคร หมอกลงสลัวๆตามทิวแมกไม้ ชายหาดที่เรือเกยค้างยังนิ่งสนิท ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว บางคนยังส่งเสียงคำรามราวกับราชสีห์โกรธ แต่บางคนหลับสนิทดุจงูเหลือมอิ่ม
มาแล้วติดใจ ไม่ยอมกลับบ้าน
แสงเช้า ทำให้ลืมเวลาข้าวต้มเครื่องบนเรือ มีกาแฟแต่หาปลาท่องโก๋ไม่ได้ในกลางป่า ไม่เดือดร้อน ทุกอย่างย่อมมีสิ่งที่ดีๆทดแทน เรากลับเข้าไปในห้อง แล้วก็พบว่า มีแมลงกลางคืนหลายชนิด เกาะรอให้ถ่ายรูป รู้หน้าที่ของนางแบบเสียด้วย ทุกคนกดด้วยมาโคร บันทึกภาพใกล้ให้ได้อารมณ์ และความละเอียดสะใจ
กวนเล่ย...ด่านหน้าแดนมังกร
แม่โขงเดลต้าห้อตะบึงฝ่ากระแสน้ำที่ยังไหลในอัตราแรงพอๆกับวันวาน แต่ ด้วยกำลังแรงม้าจากสองเครื่องยนต์ ผมรู้สึกว่าเรือแล่นเร็วมากกว่าวันก่อน แสงแดดอบอุ่นชวนให้อยากนั่งและเดินเล่นอยู่บนระเบียงชั้นสอง เหลือบเหลียวซ้ายทีขวาที ก็ได้เห็นแง่มุมหลากหลายให้บันทึกภาพ “ได้ไม่น้อย” แม้ว่าภาพที่ถ่ายจะดูเหมือนว่าคล้ายๆกับที่ผ่านมาก็ตาม
เรือดูดทรายชายแม่น้ำโขง หาดทรายมีให้เห็นทั่วไป
ฝั่งเมียนมาร์มีเรือสินค้าน่าสนใจ เป็นเรือบรรทุกไม้ซุงหลายลำ บางลำมีไม้ซุงท่อนกลมอยู่เต็มแล้ว แต่บางลำกำลังใช้เครื่องจักรคีบไม้ลงวางในเรือ ส่วนบนฝั่งก็มีรถบรรทุกไม้ท่อนกลม เรียกกันในภาษาคนลากซุงว่า “รถสาลี่” มากมายหลายลำรถ จอดรอคิวการเอาไม้ลงเรือ ผมบันทึกภาพเก็บไว้ใช้งาน
บ้านเรือนที่เมืองกวนเล่ย
คุยกันว่า ไม้ซุงท่อนกลมที่เห็นอยู่นั้น เป็นไม้ชนิดอะไรก็ดูไม่ออก ไม่แน่ใจ แต่ก็เดากันได้ว่า ถ้าเป็นไม้ซุงท่อนกลมจากเมียนมาร์น่าจะเป็นไม้สัก ไม้ดีมีค่าที่สุดในโลก ประเทศไหนๆในโลกนี้ก็ชอบ แต่ประเทศไทยหมดไปจากป่าสัมปทานทำไม้เสียแล้ว ส่วนไม้สักท่อนกลมเช่นที่เห็นอยู่นั้น ประเทศไทยก็ออกระเบียบไม่ให้นำเข้า เว้นแต่ให้เข้าได้เฉพาะไม่ท่อนเหลี่ยมหรือไม้แปรรูปเท่านั้น
ตม.จีน ตรวจสอบละเอียด
เป็นความโง่เขลาของประเทศไทย หรือฉลาดล้ำ
มีเรืออีกลำหนึ่ง บรรทุกเต็มไปด้วยตอไม้ครับ ส่วนจะเป็นตอไม้อะไรบ้างก็ไม่รู้อีก ดูเหมือนผสมปนเปกันไปหมดหลายชนิด พวกเราอดเสวนากันไม่ได้ว่า แม้แต่ตอไม้เขาก็ส่งขายได้ ทั้งเรือบรรทุกไม้ซุงท่อนกลมและตอไม้ เมียนมาร์ส่งไปขายยังประเทศจีนครับ ทั้งไม้ท่อนและตอไม้ มีคุณค่าเป็นสินค้าได้ทุกชิ้นส่วนเชียวหนอ
เรือของเราแล่นเลยไปอีกเพียง 1 ชั่วโมง ก็เข้าเขตประเทศจีน
“เข้าเขตแดนมังกรแล้วคร๊าบ” เสียงหนึ่งตะโกนขึ้นด้วยความดีใจ ทุกคนตื่นเต้น และเริ่มไหวตัว ขยับขยายสิ่งของเครื่องใช้ ในที่สุด ผู้จัดการเดินเรือก็เดินยิ้มมาบอกว่า
ดาดฟ้าเรือ..น่านั่งรับลมชมวิว
“แม่โขงเดลต้าได้แล่นทวนน้ำกลับบ้านเกิดได้แล้ว โน่นไง ด่านเมืองกวนเล่ย ประตูมังกรซีกซ้ายของแม่น้ำโขง (ขวาหรือซ้าย ให้ยืนหันหน้าล่องแม่น้ำเป็นหลัก) หรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง เรือเดินทางมากมายหลายลำจอดเรียงซ้อนๆกันที่ท่าเรือ บนตาฝั่งมองเห็นกำแพงสูงตระหง่านยังกับกำแพงเมืองจีน มีตัวอักษรจีนและอักษรภาษาอังกฤษ เขียนว่า “ท่าเรือกวนเล่ย”
ผมคว้าเป้สะพายหลัง คล้องกระเป๋ากล้องในไหล่ซ้าย ไขว้มาห้อยทางขวา สัมภาระของผมมีเพียงเท่านี้ แต่ผมยังไปไหนไม่ได้ทั้งนั้น ต้องนั่งประจำที่ ควักพาสพอร์ทออกมาให้ ตม.จีนเข้ามาตรวจสอบจนเสร็จสิ้น จึงได้ก้าวเท้าเหยียบแผ่นดินมังกร ผมรู้สึกปลื้มๆอยู่นะครับที่ได้กลับมายังบ้านเมืองของโคตรเหง้าเหล่ากอตระกูลผม
และที่หนักหนามากก็ตอนที่ชายชราอายุ 62 ปีปลายๆ ต้องเดินขึ้นบันได 3 ช่วง ช่วงแรก 59 ขั้น ช่วงที่สอง 63 ขั้น และขั้นสุดท้าย 32 ขั้น ผมผ่านการเดินขึ้นสำเร็จด้วยดี สภาพอิดโรยนิดๆ แต่ยังไหว และไม่ต้องเรียกพี่
จากนั้น คณะพรรคได้ทิ้งให้เรือแม่โขงเดลต้ารอคอยอยู่ที่ท่าเรือกวนเล่ย
ฟ้าใสเมฆสวยที่แดนมังกร
บนแผ่นดินมังกร มี “ถนนปลอดเปอร์เซ็นต์”
ขึ้นจากเรือแม่โขงเดลต้า ผมนั่งรถยนต์ต่อไปยังเมืองสิบสองปันนา(Xishuangbanna) หรือเมืองเชียงรุ้งในอดีต เป้าหมายเมืองจิงหง(Jinghong) ถนนเรียบสนิทไร้ฝุ่นอย่างสมบูรณ์แบบ มีเสียงหนึ่งพูดขึ้น
“ไม่ใช่แค่ถนนปลอดฝุ่น แต่เป็นถนนปลอดเปอร์เซ็นต์ด้วย”
“ถนนก็เลยเรียบ รถยนต์วิ่งด้วยความปลอดภัยสูง ประหยัดน้ำมัน และประหยัดเวลา”
“ที่สำคัญ ประเทศจีนเขาไม่มีการแจกเกียรติบัตรที่เขียนว่า “ คุณได้ผ่าน 1,684 โค้ง” เพราะว่าถนนทุกเส้นชนภูเขากระจุย เขา“เจาะอุโมงค์” และเมื่อถนนไปจะตกเหว เขาก็ “สร้างสะพาน”รองรับข้ามเหว ทั้งอุโมงค์และสะพาน ยาวเท่าไรก็สร้าง รถยนต์จึงวิ่งกันฉะลุย
อุโมงค์ทะลุภูเขา สะพานข้ามเหว.ยาวๆ.....ยาวๆๆ
แต่ขอโทษที เขาสงวนความเร็วไว้ระดับหนึ่ง เพื่อความปลอดภัย ตรงนี้เองที่ช่วยให้การเดินทางจากเมืองกวนเล่ยไปจนถึงเมืองจิงหง ปลอดภัยไร้กังวล ฮ่ะ ฮ่ะ
ผมเป็นคนซุกซน แต่ไม่ใช่ตาซน ผมจึงนั่งส่ายไปทางซ้ายที ขวาที ผมจึงได้เห็นว่า สองฝั่งถนนมีแต่สวนยางพาราหนาตากว่าสวนพืชผลอย่างอื่นๆ รถยนต์วิ่งไปผมก็จับระดับน้ำทะเลที่นาฬิกาบนข้อมือไปด้วย ได้ความว่า ตั้งแต่เมืองกวนเล่ยวิ่งขึ้นภูเขาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากระดับ 570 เมตรขึ้นไปจนผ่านสันเขาหนึ่งสูงถึง 1,065 เมตร ก็ยังมีการทำสวนยางพารา ข้ามเขาสูงมาแล้วก็ยังมีแต่สวนยางพารา โอ้...นี่เองคู่แข่งสำคัญสวนยางพาราประเทศไทย
สวนยางพารา มาตรวัดระดับน้ำชายโขง
ส่วนตรงพื้นที่ที่เป็นหุบเขาไม่กว้างขวางนัก เขาทำนาข้าวแบบขั้นบันได มีบ้านเรือนอยู่ด้วย บางทีก็เพียงไม่กี่หลัง บางพื้นที่หุบเขากว้าง ก็มีชุมชนหนาแน่นกว่า แต่พอเข้าพื้นที่ที่มีที่ราบกว้างขวางมากๆ มักจะปลูกกล้วย ปลูกกันชนิดที่เรียกว่ามองไปทางไหนมีแต่กล้วย นอกจากนั้นผมยังเห็นแปลงเพาะชำกล้ากล้วย เขาคลุมด้วยพลาสติกสีขาวขุ่นๆ ตามลำต้นที่ออกเครือเขาเขียนเลขกำกับไว้ด้วย ส่วนเครือกล้วยก็ห่อหุ้มด้วยถุงปุ๋ย สิ่งที่ผมไม่รู้คือ การปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดจำหน่าย อย่างละเอียด ใช้ปุ๋ยอินทรีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็แค่วิ่งรถยนต์ผ่านก็ได้แค่นี้แหละจ้ะ
สวนกล้วยหอม.....เยอะจริงๆ
อ้อ..ได้ความรู้ว่า กล้วยที่เห็นอยู่นั้นเป็น “กล้วยหอม” ทั้งสิ้น กล้วยเหล่านี้ส่งไปขายภายในประเทศ ตามมณฑลต่างๆ ทางภาคเหนือของประเทศจีน ซึ่งปลูกไม่ได้ แค่นี้ก็ไม่พอเพียงแล้ว ไม่ได้ส่งออกเลย ปัทโธ่เอ๋ย ประชากรลูกหลานมังกรจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ มีมากกว่า 1,300 ล้านคน จะพอได้ไง
ในที่สุดรถยนต์ก็วิ่งไปส่งถึงโรงแรมระดับ 3 ดาวบวก กลางเมืองจิงหง เขตการปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ดีใจเอ๋ยดีใจจัง เฮ.....