ศรีสัชนาลัย:เมืองบริวารอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ไปท่องเที่ยวเมืองโบราณที่อยุธยาใกล้ๆ ไปเมื่อไรก็ได้เว้นแต่เมื่อน้ำท่วมท้นล้นไปทั่วอย่างช่วงนี้ ปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ทั้งที่อากาศเริ่มโรยตัวเย็นลงทุกวัน น่าเที่ยวแต่ก็ไปไม่ได้เสียหนอ อย่ากระนั้นเลยครับ หนีขึ้นเหนือไปเที่ยวเมืองโบราณซึ่งโบราณกว่าอีก ไม่ไกลเท่าไร 550 กม.ก็ถึงอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรแรกของชนชาติสยาม
รถลากจูงท่องเที่ยว สุขาจ้ะ..สวยไหม?
แต่ขอโทษที ก่อนไปถึงยังแวะท่องเที่ยวเมืองเก่า กำแพงเพชร ได้อีกหนึ่งเมืองบริวาร ได้ไหว้พระพุทธรูปปางต่างๆ ได้ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ศึกษาเรื่องราว แต่ว่าคราวนี้ไปด่วนจึงขอข้ามช็อตกำแพงเพชร ฝากไว้ก่อน จะหาทางกลับไปถ่ายรูปและนำเรื่องมาเล่าสู่กันอ่านให้เกิดความอยาก..จะไป
กำแพงเมืองศรีสัชนาลัย
ครั้นไปถึงเมื่องเก่าสุโขทัยท่องเที่ยวจนหนำใจแล้วนอนพักค้างสักคืนให้ชื่นใจ อีกวันถัดไปเดินทางต่ออีก 58 กม.ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย เลี้ยวแยกไปอีกเพียง 11 กม.ก็ถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองบริวารของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เฉกเช่นเมืองบริวารกำแพงเพชรและในอดีตเมืองนี้ก็เคยเป็นเมืองบริวาร เมื่อครั้งที่สุโขทัยเป็นราชธานีของชาวสยามเช่นกันครับ
วัดนางพญา
จอดรถยนต์ทิ้งไว้แล้วนั่งรถนำเที่ยวซึ่งมีไกด์บรรยายเรื่องราวให้ฟัง หรือจะขับรถยนต์เข้าไปท่องเที่ยวก็ได้ สะดวกรวดเร็ว แต่อาจไม่ได้รับฟังเรื่องเล่าต่างๆ ถ้าปั่นจักรยานเที่ยวจะได้ออกกำลังกาย ได้ฟอกปอดเต็มที่ ได้ใช้เวลานาทีค่อนข้างละเอียดยิ่งกว่า ส่วนถ้าเดินคงจะต้อง
เตรียมพละกำลังไว้อย่างดีเสียก่อน สำหรับผมแก่แล้วถ้าจะไม่ไหว
เจดีย์องค์ประธานวัดนางพญา
สิ่งแรกที่ผมเห็นและชื่นชอบมากคือ อาคารหมู่ขายของที่ระลึก เขาสร้างทรงไทยๆได้สวยงาม โดดเด่นมากคือสุขาหลังด่านกั้นทางเข้า ยิ่งแสงแดดยามบ่ายส่องใส่ สวยครับ ถ้าบ้านเรือนและรีสอร์ทใดไม่รังเกียจ ขอแบบไปสร้างได้เลย รถยนต์ท่องเที่ยวของอุทยานพาเข้าเส้นทางช้าๆ ไกด์บรรยายไปเรื่อยๆ แต่พูดก็พูดเถอะว่า ฟังเสียงเล่าไปก็จดจำไม่ได้ จดก็ไม่ทัน นี่ถ้ามีเอกสารแจกด้วยคงดียิ่งกว่า ข้อเสียอีกอย่างคือ บางจุดรถวิ่งผ่านเร็วมาก ถ่ายรูปไม่ทันและไม่รู้ด้วยว่า ตรงจุดที่ผ่านไปนั้นคืออะไร เสียดายครับ
ปูนปั้นผนังวิหารวัดนางพญา
วัดนางพญา เป็นวัดที่มีขนาดกว้างใหญ่ถึงเจ็ดห้อง เสาโครงหลังคาวิหารทุกต้นมีลวดลายเทพพนมทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ สร้างด้วยศิลาแลง ส่วนเจดีย์ประธานองค์โต เก่าคร่ำ ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจนถึงโถง ส่วนที่โดดเด่นและสวยงามมากอยู่ที่ปูนปั้นผนังวิหารที่เหลืออยู่ ลวดลายพรรณพฤกษา บางส่วนเป็นรูปกึ่งมนุษย์และกึ่งวานรกำลังวิ่ง การปั้นปั้นได้อ่อนช้อยเหลือกำลัง ยังคงรักษาสภาพไว้ให้เห็นว่าช่างในอดีตของเมืองศรีสัชนาลัยนั้น ระดับไหน
ถ้ายิ่งมาเทียบเคียงกับช่างปั้นปูนที่ปลูกสร้างโบสถ์ทุกวันนี้ เสียดายปูน เสียดายเงิน เสียดายสีที่ถูทาและเสียดายความรู้สึกอีกต่างหาก ส่วนรูปทรงวิหารวัดนางพญามีทั้งซุ้มหน้าและซุ้มหลัง แต่โครงสร้างหลังคานั้นเหลือจะคาดเดาได้ อย่างไรเสียก็คงงามกว่ารูปทรงโบสถ์ของวัดทั่วๆไปอย่างแน่นอน
ข้างๆโบสถ์ มีต้นทองหลางป่ากำลังออกดอกสีแดงสะพรั่ง เพิ่มสีสันให้กับบริเวณได้นิดๆ มีนกสวยๆบินมาดูดกินน้ำหวานจากดอกนั้นแล้วโดดไปดอกโน้น เสียดายเวลาและกล้องที่ไม่พร้อม จึงไม่ได้รูปนกมาฝาก จินตนาการเอาก็แล้วกันนะครับ เลยจากวัดนี้ไปเป็นกำแพงสูง ดูอลังการดีเหมือนกัน นึกภาพในอดีตว่า เมื่อข้าศึกบุกมาประชิดติดเมืองนั้น จะเป็นอย่างในละเม็งละครหรือภาพยนตร์ที่สร้างไหม แม้นไม่ใช่ก็ใกล้เคียงละวุ๊ย!!
วัดช้างล้อม
มีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ พอให้ร่มเงาได้บ้างเล็กน้อย แต่พอผ่านวัดเขาสุวรรณคีรีก็ได้แต่แหงนเท่อ รถวิ่งผ่านไป ไม่ได้ปีนขึ้นไปถ่ายรูปตามเคย ดูเหมือนเป็นภูเขาลูกเดียวที่อยู่ในกำแพงเมือง เห็นปลายเจดีย์พ้นทิวไม้ คาดว่าองค์โตแน่นอน นี่ก็ฝากไว้ก่อน สักวันหนึ่งจะกลับมาเอาคืนให้กระจ่างแจ้งแดงแจ๋ เพาะเชื้อไว้นิดๆ เพื่อจะได้มีเรื่องกลับมาอีกครั้ง แหล่งท่องเที่ยวแห่งเดียวก็มาเที่ยวได้หลายครั้งนะครับ
ช้างทรงเครื่องล้อมวัดช้างล้อม
ไกด์เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็จำไม่ได้ มาได้ก็ตอนหยุดจอดที่หน้าวัดช้างล้อม ซึ่งเป็นไฮไลท์ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเลยก็ว่าได้ เจดีย์ประธานองค์โตทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส มีช้างล้อมจำนวน 39 เชือก ช้างใหญ่เกินจริง แต่ชำรุดบ้าง สภาพดีบ้าง ทุกเชือกหันหลังชนกำแพงฐานเจดีย์ ตามคอ ต้นขาและข้อเท้า มีปูนปั้นเป็นลวดลายทรงเครื่อง ทำให้สวยงามมากยิ่งขึ้น ทุกสิ่งย่อมบุบสลายไปตามกาลเวลา เจดีย์ประธานองค์นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สนามหญ้าเขียวขจี
เจดีย์องค์ประธานทรงลังกา
ฝั่งตรงข้ามวัดช้างล้อมเป็นวัดเจดีย์เจ็ดแถว หลากหลายรูปแบบศิลปะที่สร้างเจดีย์ มีทั้งศิลปะสุโขทัยล้วนๆ ศิลปะสุโขทัยผสมแบบศรีวิชัย โดยเฉพาะเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังวิหาร นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รายรอบถึง 33 องค์ ซึ่งสร้างด้วยศิลปะลังกาบ้าง พุกามบ้าง ส่วนว่าใครองค์ใดเป็นผู้สร้างเหลือจะคาดเดาอีก ข้อมูลที่สืบค้นอาจยังไม่ถึงแก่น
วัดเจดีย์เจ็ดแถว
ด้านหลังของเจดีย์ประธานมีเจดีย์องค์หนึ่งแปลกกว่าองค์อื่นๆ ฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ยอดเจดีย์เป็นทรงกลม ภายในเจดีย์ทำเป็นซุ้มโถงประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปยืน แถมด้วยภาพจิตรกรรมเล่าอดีตขององค์สมณะโคดม และเหล่ากษัตริย์ ส่วนซุ้มด้านหลังของเรือนธาตุเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก
เมื่อครั้งที่พระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาชม ได้ตั้งชื่อว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถว และยังสัณนิษฐานว่า เป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิกษัตริย์ของราชวงศ์สุโขทัย หลักฐานการกล่าวอ้างมีเพียงเท่านี้ จึงบันทึกเรื่องเล่าตามไปก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันเป็นอย่างอื่น หรือจนกว่าจะมีการตรวจดีเอ็นเอเหมือนอย่างมัมมีตุตันคาเมน ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไร เรื่องใหญ่เมืองศรีสัชนาลัยเชียวครับ
ความวิจิตรของงานศิลปะกรรมปูนปั้น
เชื่อไหมครับว่า ชั่วเวลา สองชั่วโมง ก็ท่องเที่ยวได้ถึง 45.14 ตารางกิโลเมตรหรือ28,212.5 ไร่ แต่ไม่สามารถชมโบราณสถาน 204 แห่งได้ครบ ว่ากันว่ายังมีโบราณสถานที่ยังไม่ได้สำรวจเหลืออยู่อีก 11 แห่ง รวมเป็น 215 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยประกาศเป็นมรดกโลกด้านประวัติศาสตร์พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 เช่นกัน ว่ากันว่าอีกน่ะแหละว่า เมืองศรีสัชนาลัยสร้างเมื่อศตวรรษที่ 19
จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อยากชวนเชิญให้เดินทางต่อไปอีกเพียง 68 กม. ก็จะได้ไปสัมผัสผืนป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติชื่อศรีสัชนาลัยเหมือนกัน แต่เป็นบ้านพักกลางป่าใหญ่ อากาศเย็นสบาย มีบ้านพักและลานกางเต็นท์พร้อม จักรยานก็มีให้ขี่ท่องเที่ยวได้ ทรัพยากรท่องเที่ยวก็เยอะเช่น น้ำตกตาดเดือน น้ำตกตาดดาว ฯลฯ ไม่ไปไม่รู้นะจะบอกให้