คึดฮอดเมืองลาว ๑๓
โดยเอื้อยนาง
ตอนหลวงพระบาง อัญมณีที่ปากคาน
ลงจากยอดภูสีรถก็พาพวกเราอ้อมโค้งไปปากน้ำคานที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ผ่านวัดวาอารามมากมาย ตั้งอยู่ติด ๆ กันจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกันก็มี สังเกตเพียงประตูโขงและป้ายชื่อจึงรู้ว่าเป็นคนละวัด คณะของเรามุ่งหน้าไปวัดเชียงทอง ซึ่งเป็นวัดมีชื่อเสียงคู่กับเมืองเชียงทอง(หลวงพระบาง)มาแต่เดิม ใครไปเที่ยวหลวงพระบางก็ต้องมาวัดนี้ให้ได้ นอกจากจะมีโบสถ์ วิหาร รูปทรงศิลปะลาวที่งามอ่อนช้อยแล้ว ในวัดนี้ยังมีโฮงเมี้ยนโกฏิ(โรงที่เก็บโกฏิ)ของเจ้ามหาชีวิตลาวด้วย ซึ่งพอผ่านประตูเข้าไปจะพบพญานาคห้าเศียรสีเหลืองทองชูคออะร้าอร่ามเหมือนจะป้องปรามใคร ๆ ที่เข้าไปเยือนให้ต้องสงบเสงี่ยมเจียมกิริยา บนหลังของพญานาคคือโกฏิสีทองอร่ามเรืองสามโกฏิ
แม่น้ำโขงที่หน้าวัดแคบและดูลึกลิบลับ บริเวณที่น้ำคานไหลลงมาบรรจบนั้นสายน้ำ
กลายเป็นสองสีเช่นกับบริเวณปากน้ำสาขาแห่งอื่นที่ไหลลงโขง เช่นปากมูลที่อุบล หรือ
ปากน้ำสงครามที่นครพนม ช่างดูราวกับว่าแม่น้ำโขงนั้นเป็นสายเลือดที่เข้มข้นกว่าสาย
อื่น ๆ ที่เป็นสาขา
ขณะกำลังชมความงามตระการตาของอารามเชียงทองอยู่นั้น ท่านเจ้าอาวาสเดินลงมาจากกุฏิพอดี จึงได้นั่งลงแล้วยกมือพนมก้มเคารพตามธรรมเนียมลาว(ทั้งลาวในไทยและลาวในลาว) พอรู้ว่าเป็นคณะมาจากอุบล สารคาม ท่านจึงหยุดสนทนาถามข่าวคราว และยังกรุณาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ฟังไม่น้อย ท่านเองเคยมาอีสาน ลูกหลานหลายคนยังอยู่ในไทย บ้างมีครอบครัวในอุบล และกรุงเทพ แม่น้ำโขงเป็นเพียงเส้นแบ่งประเทศเขตแดน แต่ไม่เคยแบ่งแยกผู้คนเครือญาติให้ขาดจากกันได้สักทีไม่ว่าฝ่ายใดจะปกครองแบบไหน ความเป็นสายเลือดเดียวกันไม่เคยถูกกีดกันแบ่งกั้น
เสียงระฆังบอกเวลาเพลดังแว่วมา จึงได้ไหว้ลาจากท่านมาขึ้นรถท้าวเดชอารุณเพื่อไปไหว้ชมพระธาตุหมากโม ยังวัดวิชุนราชต่อ วิทยากรในคณะจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเล่าว่า
“แม้พุทธสีมาของวักวิชุนราชจะไม่งามพิสุทธิ์ดั่งวัดเชียงทองที่เพิ่งจากมา แต่ที่นี่ก็เป็นสถาปัตยกรรมแห่งแรกของเมืองเชียงทองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบางโดยเฉพาะ
“พระเจ้าวิชุนราชโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๔๖ เพื่อเป็นที่รับพระบาง ซึ่งพระองค์ได้อัญเชิญขึ้นมาจากเมืองเวียงคำ นอกจากนี้ความสำคัญของวัดนี้ก็คือ มี “เจดีย์ปทุม” หรือ “พระธาตุดอกบัวใหญ่” ที่พระนางพันตีนเชียงพระอัครมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชโปรดให้สร้างขึ้นในปี ๒๐๕๗ ชาวเมืองทั่วไปเรียก “พระธาตุหมากโม”
อัญมณีแห่งหลวงพระบางก็คือ โบสถ์ วิหาร วัดวาอารามนี้เอง พระพุทธศาสนาในลาวยังใกล้ชิดกับผู้คนมากกว่าในบ้านเรา บริเวณลานวัด ใต้ร่มไม้ชายคามีเด็ก ๆ เล่นกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ เหมือนสังคมในบ้านเราเมื่อหลายสิบปีก่อนที่วัดไม่ใช่ที่จอดรถและตลาดดังปัจจุบัน ออกจากวัดวิชุนเราก็กลับไปทานอาหารที่ร้านอาหาร “นางมาลี” ซึ่งอยู่ใกล้กับเฮือนพักหรือเกสต์เฮาส์แก้วปะทุม และเป็นร้านประจำของเราตลอดเวลาที่พักในหลวงพระบาง
อาหารการกินของหลวงพระบางเท่าที่สังเกต หลายอย่างหน้าตาและรสชาติออกจะคล้ายอาหารชาวเหนือของเรา โดยเฉพาะพวกน้ำพริกและผักที่เคียงมา ข้าวเหนียวนุ่ม ๆ นั้นสีออกจะคล้ำเหมือนข้าวซ้อมมือ หรือข้าวจากโรงสีเล็ก ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการขัดสีฟอกขาว มีบางมื้อที่เจ้าของร้านใจดี เห็นพวกเราเว้าลาวกันจ้อย ๆ และรู้ว่าเป็นลาวอีสาน เธอก็ยกกระติบข้าวเหนียวขนาดใหญ่มาตั้งแถม เป็นที่ประทับใจเพราะพอเปิดฝากระติบข้าวเท่านั้น
กลิ่นกรุ่นจากข้าวร้อน ๆ ทำให้นึกย้อนถึงข้าวพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ข้าวนางนวล ข้าวป้องแอ้ว ป้องแซง ข้าวมันปูที่เคยกินสมัยเป็นเด็กและห่างหายสูญพันธุ์ไปหลายปีดีดักด้วยมีข้าวกข.๕ กข.๖ของกรมการข้าวเข้ามาส่งเสริมให้ชาวนาปลูกแทน ที่จำได้ติดใจติดลิ้นคือน้ำพริกมะกอก อร่อยมาก หน้าตาเหมือนน้ำพริกหนุ่มของชาวเหนือ แต่ส่วนผสมมีแคบหมูป่นละเอียดอยู่ด้วยจิ้มกับผักลวกพื้นบ้านที่เคียงมา
มีผักชนิดหนึ่งหน้าตาแปลก แต่รสชาติดีมาก เขานำมายำเหมือนยำสลัด แม่ค้าบอกว่าชื่อ “ผักน้ำ” เพราะมันเป็นพืชน้ำ เกิดในน้ำโขง น้ำคาน ใบมันเล็ก ๆ มน ๆ คล้ายผักบัวบกแต่ไม่ใช่
“คล้ายผักกะหน่องม้าบ้านเรา” ผู้สันทัดกรณีบอก แต่ยังไม่มีเวลาสืบค้นหาผักกะหน่องม้าก็เลยไม่กล้าสรุป(แม้สมัยเป็นเด็กจะเคยกินผักกะหน่องม้าอยู่เช่นกัน แต่มันก็นานมาแล้วจนจำหน้าตามันไม่ได้)
อาหารของหลวงพระบางที่รสชาติคุ้นลิ้นชาวอุบลอย่างเราอย่างยิ่งก็คือ แกงอ่อมปลาโขง และ ส้มตำสูตรโบราณที่ใส่มะอึก มะเขือพวง มะเขือเครือ(คล้ายมะเขือเทศ)และใบผักแป้น(ลืมชื่อไทยแล้ว) เมี่ยงญวนก็หน้าตาเหมือนของชาวญวนที่อุบลแต่น้ำพริกมีรสหวานไปหน่อย มื้อสุดท้ายที่หลวงพระบางโต๊ะเราสั่งหมกไก่เพิ่มพิเศษ เห็นฝรั่งหนุ่มสาวที่นั่งโต๊ะข้าง ๆ สั่งผัดเต้าฮู้มานั่งกินกับข้าวเหนียวแล้วออกจะเขิน คนไทยเราสั่งอาหารเต็มโต๊ะไม่ว่าไปที่ใด ๆ
๐๐๐๐๐