ดอยสุเทพ เชียงใหม่ ไม่ไปก็กระไรอยู่
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง/ภาพ
เมื่อเรียนหนังสือที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แล้วต้องไปฝึกงานที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง แคมป์ฝึกอยู่กลางป่าไม้สักที่ปลูกขึ้นใหม่ (Artificial Forest) โดยมนุษย์ ขณะนั้นพวกเรากำลังหนุ่มตะกรอ 20-21 ปี คึกคนอง แต่อาจารย์ซึ่งส่วนใหญ่ก็จบมาจากคณะเดียวกัน ผ่านวันเวลาในช่วงนี้เหมือนๆกัน จึงเข้าใจดีที่หนุ่มๆใฝ่ฝัน "วันหยุดช่วงสงกรานต์" ก็เลยอนุญาตให้หยุดยาวเป็นพิเศษ
ป่าดงดิบเขาสองข้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย (ออมสินและเพื่อน)
โดยมีข้อแม้ว่าถ้าถึงเวลากลับเข้าแคมป์ แล้วไม่กลับต้องทำโทษด้วยการขุดตอไม้คนละตอ วันนั้นมีแต่เสียง เฮ และหัวเราะเรื่องขุดตอ สงกรานต์เชียงใหม่คือความใฝ่ฝัน วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพสักการะสักครั้งเป็นมงคล และลงเล่นน้ำตกห้วยแก้วที่ยังมีน้ำใสไหลเย็นชื่นใจ จนถึงวันนี้ ถ้าผมได้ไปเชียงใหม่ครั้งใดต้องขึ้นไปกราบพระบรมธาตุทุกครั้ง
ไม่ได้ขึ้นไปใจหายเหมือนว่า ไม่ถูกต้องนะ
นักศึกษากับแนวคิดการพัฒนาสังคม เยี่ยม
ปีนั้น ผมไปกับเพื่อนๆกลุ่มหนึ่ง นั่งรถเมล์เขียวจากอำเภองาว ไปยังจังหวัดลำปาง แล้วก็ต่อไปจังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปนอนในหอมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเพื่อนชื่อ ฉลอง ปิติสม เพื่อนจากโรงเรียนผักไห่สุทธาประมุข จังหวัดอยุธยา เขามาเรียนต่อคณะสังคมศึกษา ก็เลยได้เขาเป็นคนนำเที่ยว เป้าหมายที่ 1 ขึ้นไปไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพ ถ่ายรูปหมู่กันที่เศียรพญานาคเชิงบันไดทางขึ้น แอคท่ากันเต็มที่
สนฉัตรที่น่าจะต้นใหญ่ที่สุดที่เคยเห็น
หลังจากนั้นก็เดินนับขั้นบันไดขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ ไปกราบขอพรกันตามใจ แต่ใครจะได้สมหวังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน
"เจ้าพ่อคูณณณณ ขอให้ได้แฟนเป็นสาวเชียงใหม่สักคน" ไอ้แก่สมศักดิ์เพื่อนร่วมก๊วนอธิษฐานเสียงดัง เล่นเอาเพื่อนๆหัวเราะกันกลิ้ง
สิ่งที่ได้กลับมาคือ มันได้ขุดตอไม้สักตอใหญ่กว่าใคร ด้วยว่ามันมัวแต่ตามสาวไปอำเภอเชียงดาว ก็เลยกลับไปไม่ทันกำหนดเส้นตายของอาจารย์ โสนะหน้า(สมน้ำหน้า)
เป้าหมายที่2 เล่นสงกรานต์สะพานนวรัตน์และในแม่น้ำปิงสมใจได้เปียกปอน แต่ไม่ได้แฟนอย่างที่สมศักดิ์อธิษฐาน (ครูกิ่งแก้ว อดีตศิษย์ม.เชียงใหม่ อดีตอาจารย์โรงเรียนประจำจังหวัดสุรินทร์ อยู่ไหนเอ่ย)
นี่แหละบันไดชีวิต ยินดีต้อนฮับนะเจ๊า
ปีนี้ผมอายุ 62 ปีเศษๆ กำลังเยื้องย่างเข้าสู่ปีที่ 63 แต่วันนี้ได้หลานชาย(ออมสิน)ดี พาไปไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพ
"ลุงมาเชียงใหม่ทีไร ถ้าไม่ได้ขึ้นมากราบไหว้ก็เหมือนใจจะสั่นๆ รู้สึกเหมือนมาไม่ถึง ตอนลุงมาซื้อขายที่ดินจนทำจัดสรรที่ดินช่วงนายกชาติชาย ลุงก็ขึ้นมาไหว้ทุกครั้ง เหมือนเดิมๆ เดินไปดูพิพิธภัณฑ์ของวัดนิด ถ่ายรูปหน่อย เอ้า มายืนคู่กันซิ ลุงจะถ่ายรูปให้ ตรงนี้แหละลุงเคยถ่ายรูปหมู่กับเพื่อนๆ"
ผมสั่งหลานชายกับเพื่อนแล้วก็ทำหน้าที่เป็นตากล้อง วันหนึ่งเขาจะเอาไปเล่าต่อว่าภาพนี้ "ลุงถ่ายให้"
ศรัทธาแรงกล้า มาแล้วก็ต้องกราบต้องไหว้
ไปกี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เบื่อเลย ผมเดินไปก็มองผู้คนที่เปี่ยมด้วยความศรัทธาหรือไม่ก็มาเที่ยวครั้งแรก ภาพในอดีตผุดพราย เศียรพญานาคสองเศียรยังเป็นที่ทุกกลุ่มชอบยืนถ่ายรูป ยืนบนกลางบันไดทางขึ้น ยืนพิงกับตัวพญานาคใช้ข้อศอกอิงเหมือนพยุงตัวเพื่อให้ถ่ายรูป พอถึงขั้นสุดท้ายก็หันหลังลงมาให้ถ่ายจนเห็นป้ายวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ
เด็กๆชาวไทยเชื้อสายม้งยังแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่า อาจเป็นลูกหลานเหลนกลุ่มม้งในอดีต
"สิบะ สิบะ"
เสียงร้องขอเงินค่าถ่ายรูปคู่กับพวกเขา ช่วงเวลานั้นเขายังพูดไทยได้ไม่ชัดเจนนัก
สีสันและลวดลายงามเหลือแสน
วันนี้ ผมก็ทำซ้ำเหมือนอดีต แต่วันนี้ทำตามวัย นั่นก็คือ ทำทีหยุดๆเดินๆ เพื่อถ่ายรูปแต่ความจริงเมื่อยเข่าปวดขาหมดแรงข้าวต้ม วันนี้มีลูกเล่นกว่าเมื่อวันวาน ว่างั้นเถอะ ครั้นเจอเด็กแต่งชุดประจำเผ่า ก็ได้ยินเสียงพูดเหมือนเดิม แต่เป็นภาษาไทยที่ชัดเจนมากๆ
"ยื่สิบบาทครับ ยี่สิบบาทเจ๊า" เมื่อถ่ายรูปกับคนไทย และ "Twenty bath please" เมื่อถ่ายรูปกับชาวต่างชาติ เยี่ยมยอดจริงๆ วัฒนธรรมชนเผ่าก็ขายได้
Twenty bath please ม้งดอยปุย
สองฝั่งทางเดินขึ้นลง วันนี้ก็เหมือนอดีตแทบทุกอย่าง แต่เพิ่มธุรกิจการค้ามากกว่า เป็นแหล่งที่ถ้าใครตกงานละก้อ มานั่งหรือยืนหรือเดิน ขายของที่ระลึก ของกิน ไม่มีอดตาย แต่วันนี้เพิ่มมาอีกอย่างคือนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันยืนถือกล่องบริจาคพร้อมป้ายแจกแจงโครงการขอรับบริจาค เพื่อห่มหนาวให้หายหนาว เพื่อเด็กยากจนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อ..เพียบ บางกลุ่มเป็นกล่อง2 กล่อง 3 เรียกว่ารู้จักการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำทานมากขึ้น
การจัดการใช้ได้เลย ดีกว่าไปตั้งกล่องไว้เฉยๆ
องค์พระบรมธาตุดอยสุเทพ พุทธสถานคู่เมืองเชียงใหม่
เชื่อไหมว่า ผมเดินวนเพียงรอบเดียว แล้วนั่งคุกเข่า ก้มลงกราบพระบรมธาตุ แล้วก็เดินวนไปหาจุดที่ถ่ายรูป ไปชะโงกดูวิวเมืองเชียงใหม่ แทบจะเหมือนทุกครั้งที่ขึ้นมา เพียงแต่ว่า มาทุกครั้งถ่ายรูปไปเก็บ แต่คราวนี้ ผมถ่ายรูปไปเขียนสารคดีท่องแดนแผ่นดินธรรม ในรูปแบบการนำเที่ยว การท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำ และรำลึกถึงความหลัง
เดินดูผู้คนที่ไม่ใช่คนหน้าเดิม หลายชาติหลากภาษา
นักท่องเที่ยวจากสมุทรปราการ บ.ทิพยประกันภัยจำกัด(มหาชน)
แต่แล้วผมก็ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ให้บันทึกภาพ เป็นต้นกอไผ่ที่วัดปลูกไว้หรือขึ้นเองตามธรรมชาติ ผมก็ไม่รู้จะไปสอบถามใคร แต่ว่ามันรอดตาผมตลอดมาครับ
กอไผ่กอนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมธาตุ มีม้านั่งหินเรียงให้เป็นที่พักคนที่เดินจนเมื่อยหรือนั่งรอลูกหลาน(ส่วนใหญ่คนแก่นั่ง) แต่พอผมไปยืนถ่ายรูปซ้ำแล้วซ้ำอีก คนที่นั่งๆกันอยู่ก็คงจะสงสัย ไอ้แก่บ้าที่ไหนมาถ่ายรูปกอไผ่
ไผ่ภู่ห้อยเป็นระย้าๆ แปลกดีเหมือนกัน
"เออ กอไผ่แปลกนะ มีภู่ห้อยย้อยเป็นพวงๆด้วย แปลกดี"
เสียงลุงคนที่นั่งรำพึงค่อยๆให้เพื่อนฟัง ไผ่ลำที่โอนเอนมาบนลานวัดนั้น ทุกข้อจะมีภู่กิ่งไผ่แตกออกจากข้อไผ่ เป็นจุดๆ เหมือนใครเอาภู่ห้อยไปแขวนไว้ แต่นี่มันของจริง ไม่ใช่ของปลอม ส่วนมันจะเป็นไผ่อะไร ก็ไม่รู้จักอีก เข้าป่าผ่าดงดอยมานักต่อนักก็ไม่ยักกะเคยเห็นเลย ที่เห็นก็เป็นไผ่เลื้อย ซึ่งสวยมากๆ น่านำมาพัฒนาปลูกเป็นไผ่ประดับสวนหย่อมได้
ออมสิน เข็มชาติ เปาอินทร์ ถ่ายไว้
ผมลงจากดอยสุเทพ ก็บึ่งรถกันไปยังดอยปุย ตลาดหมู่บ้านชาวเขาที่อดีตเป็นม้ง จีนฮ่อ แต่วันนี้มีกระทั่งชาวไทยพื้นล่าง พื้นเมือง และชาวทิเบต ซึ่งได้เห็นการขยายตัวของชุมชนจากอดีตที่อยู่กันตามสภาพ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นตลาดขายของที่ระลึกเต็มรูปแบบ ธรรมชาติเดิมๆหายไปกับการพัฒนาและเศรษฐกิจชุมชน(ใหม่)
ไม่ประทับใจเหมือนเดิมเสียแล้ว ลาก่อนดอยปุยที่เคยเห็นวันนี้ เราขอลาไปชั่วนิรันตร
ศรัทธา..ศรัทธา นักท่องเที่ยวคราคร่ำ
ผมลงมากราบไหว้ครูบาศรีวิชัยที่ตีนดอย แล้วก็สบายใจไปไหนก็ไปกัน แต่วันนี้ไม่ไปไนท์คลับและคาเฟ่อีกแล้ว ลุงแก่แล้วจ้า.....ประวัติวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เปิดเว็บค้นอ่านได้เลย สารคดีนี้เพียงเล่าว่า คนแก่คนหนึ่งชอบและมีความหลังเยอะ
ไปเชียงใหม่อีกเมื่อไร ก็จะไปไหว้อีก เหมือนเคย
หงษ์..เหมือนในสิบสองปันนา หน้าบันซุ้มประตู
ภาพชีวิตบนดอยปุย..ยังเหลือความงดงามให้เห็น