ตำนานของคนเล็ก ๆ กับรถไฟสายประวัติศาสตร์
“พอแพง”
“เสียงรถไฟดังมาหว่อนว่อน
แก้มอ่อนอ่อนลาก่อนเด้อสาว
อ้ายสิฟ้าวไปขึ้นรถไฟ
ลงไปไทยหาเงินจักหน่อย...
ต่อย รอย ต๊อย รอย ต่อย รอย ต่อย....”
เพลงลำเต้ยสำเนียงลาวอีสานเคยได้ยินจนชินหูมาแต่เล็กแต่น้อย เนื้อหานั้นบอกให้รู้ว่ารถไฟคือพาหนะที่คนบ้านเรานั่งลงไปเมืองไทยเมืองล่าง ไปหาเงินสักหว่าง(สักหนึ่งเวลาอาจเป็นเดือน เป็นปี)
รถไฟไทยเริ่มสร้างมาแต่พ.ศ.๒๔๓๕ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔(นับอย่างปฏิทินช่วงนั้น) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงตักดินเทลงถมบริเวณใกล้คลองผดุงกรุงเกษมที่จะขุดสร้างทางรถไฟเป็นปฐมฤกษ์ การก่อสร้างทางรถไฟก็เริ่มขึ้นแต่วันนั้น โดยสร้างสายไปหัวเมืองอีสาน กรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นสายแรก ระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร แล้วเสร็จในปี ๒๔๔๓ แล้วทางรถไฟสายนี้ก็หยุดชะงักไป ๒๐ ปีเศษ ด้วยปัญหาด้านการเงินของรัฐบาลจนในปี ๒๔๗๓ รถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี(ที่จริงวารินชำราบ)จึงแล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นเวลา ๓๐ ปีหลังจากสร้างถึงนครราชสีมา
แม้ว่าจุดมุ่งหมายแท้จริงในการสร้างทางรถไฟสายแรกสู่หัวเมืองอีสานนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า เปิดโอกาสให้ประชาราษฎร์มีทางตั้งทำมาหากินให้กว้างขวางออกไป และทำให้สมบัติกรุงสยามมีมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านการบังคับบัญชาตรวจตราราชการ บำรุงรักษาพระราชอาณาเขตด้วย เพราะช่วงเวลานั้นนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้เขมรและญวนไปแล้ว กำลังแล ๆ เล็ง ๆ มาที่ลาว และแลข้ามโขงมาฝั่งอีสานซึ่งสนิทชิดเชื้ออยู่กับลาวทางสายเลือดด้วย รถไฟสายแรกจึงมุ่งตรงไปหัวเมืองอีสานดังกล่าว
ในฐานะเป็นคนวารินชำราบ แม้ยังไม่เกิดในปีแรกที่รถไฟขบวนแรกเข้าจอดในชานชาลาสถานีอุบลราชธานี ก็เคยได้ยิน ได้ฟัง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าถึงตำนานความตื่นเต้นเห่อเหิมรถไฟกันตลอดมา ขนาดมีเป็นตำนาน เป็นกลอนลำ กลอนเต้ย แม้เด็ก ๆ ก็ร้องได้กันคล่องปาก เป็นเพลงกล่อมเด็ก กล่อมน้องนอนก็มี ว่ากันว่าแม่ใหญ่พ่อใหญ่ทั้งหลายในแถบใกล้เคียงนั้น ถึงกับชวนกันเป็นขบวน ห่อข้าวห่อน้ำอุ้มลูกสะพายหลาน มานอนแรมคืนคอยดูรถไฟคันยาว ๆ เปิดหวูดปู้น ๆ ...มาแต่ไกล ราวกับไปเอาบุญบั้งไฟยโสธรแน่ะ
แล้วรถไฟก็ไม่ได้ขนเพียงข้าราชการ มาบังคับบัญชาตรวจตรา บำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ตามจุดหมายแห่งการสร้างแต่เดิมเท่านั้น รถไฟยังพาอะไร ๆ ไป ๆ มา ๆ อีกมากมาย หนุ่ม ๆ อีสานว่างงานจากหน้านาก็หันหน้าลงใต้ไปตามขบวนรถไฟ จนเกิดเป็นตำนาน แบกถุงข้าวสารไปขึ้นรถไฟ ไปทำงานจักหว่าง... ขากลับมาก็แบกถุงข้าวเกรียบจากอยุธยา หิ้วชะลอมผลไม้จากแถวปากช่องเป็นเอกลักษณ์ เดินเป็นแถวจากสถานีรถไฟไปสถานีขนส่งที่ตลาดวารินชำราบ
ตำนานการนั่งรถไฟมีให้ได้ยินได้ฟังอยู่มากมาย ที่จำได้เป็นเรื่องสนุกปนเศร้าของเจ้าทองลา ชื่อเรื่องว่า “เมื่อทองลาอิ่มข้าวหลาม”
เรื่องมันมีอยู่ว่า เจ้าทองลาเป็นหนุ่มรักดีคนหนึ่ง ซึ่งพอว่างจากนาในหน้าแล้งก็ขยันขันแข็งไปใช้แรง หาเงินที่กรุงเทพฯอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ได้เงินเดือน ๆ ละไม่กี่ร้อยในสมัยนั้น ก็ยังดีกว่าอยู่ว่าง ๆ หายิงนกยิงหนูเล่นตามท้องทุ่งที่ว่างเปล่าให้สาว ๆ หมั่นไส้ จนแล้งผ่านไป ฝนมาฟ้าหลั่งจึงกลับจากกรุงเทพฯขึ้นรถไฟมาช่วยพ่อแม่ทำนาละ เจ้าลาเป็นคนรู้จักประหยัดจึงไม่นำพาเสียงเรียกร้องตามสถานีต่าง ๆ ยามรถหยุด ไม่ซื้อข้าวเกรียบอยุธยา ไม่นำพาชะลอมละมุด น้อยหน่าแถวปากช่อง ไม่ซื้อแม้แต่น้ำถุงละบาท สู้อุตส่าห์อดออมกว่าจะถึงวาริน แต่แหมรถไฟก็วิ่งกะฉึกกะฉักเอื่อยเฉื่อย จนเที่ยงจนบ่ายคล้อยเพิ่งถึงสถานีนครราชสีมา ไม่มีกระติบข้าวที่แม่เตรียมให้เหมือนขามาเมื่อหลายเดือนก่อนเสียด้วย มีแต่เงินที่ยัดไว้ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ จะเอาไปให้พ่อซื้อปุ๋ยให้ข้าวงามจนชาวบ้านลือไปเลย
“ข้าวหลามครับ...ข้าวหลาม กระบอกละห้าบาท...”
เสียงดังอยู่ข้าง ๆ ตู้รถไฟ ทองลาคิดอยู่เป็นนาน ท้องก็เริ่มประท้วง เสียดายเงินห้าบาทก็เสียดาย คิดว่าอีกไม่นานไปถึงบ้านแล้วจะตัดไม้ไผ่ลงมาทำกินสักสิบลำให้อิ่มตื้อไปเลย แต่แหมกว่าจะถึงบ้านความหิวมันคอยไม่ไหวนะซี จึงตัดใจค่อย ๆ ควักเงินออกมาขณะเสียงระฆังสัญญาณรถไฟออกจากสถานีดังขึ้น จึงตะโกนขึ้นอย่างเร่งรีบว่า “ข้าวหลามเอามาบั้งหนึ่ง” คนขายก็เร็วจี๋ทันใจ ยื่นเงินลงไปก็ส่งบั้งข้าวหลามขึ้นปั๊บก่อนรถไฟกะฉึกกะฉักออกจากสถานี เจ้าลาเพิ่งนึกได้ชะโงกลงไปตะโกนแข่งเสียงรถไฟว่า “เงินทอน เงินทอนด้วย” แต่แม่ค้าข้าวหลามตอนนี้หมดแรงวิ่งแล้ว ทั้งอาจไม่ได้ยินเสียงเรียกก็ได้ เพราะแม้จะเห็นหน้าและมือยื่นออกมาเรียกจนเสียงแหบเสียงแห้ง เธอก็ยังเฉย ทองลาเลยต้องนั่งน้ำตาตกใน ได้ข้าวหลามมาหนึ่งบั้งแลกด้วยเงินค่าแรงใบแดง ๆ ไปหนึ่งใบ เป็นใครก็ต้องเศร้าละ นับแต่นั้นมาแม้แค่มองเห็นปลายไผ่โบกไหว ๆ ทองลาก็อาเจียนจนหมดไส้หมดพุงทุกทีละ
เป็นเพราะตำนานของเจ้าทองลาหรือเปล่าไม่รู้ที่ทำให้ช่วงหลัง ๆ ที่ตัวเองมาอยู่กรุงเทพฯใช้บริการรถไฟกลับบ้านทีไรก็ไม่ได้ซื้ออะไร กินอะไรบนรถไปอีก อาจเป็นว่าส่วนมากกลับรถนอนมากกว่ากระมัง จึงกินข้าวกินน้ำมาเรียบร้อย ขึ้นรถได้ก็นอนเลย ตื่นเช้าก็ลงรถไฟพอดี จะมีใช้บริการอยู่บ้างคือกาแฟสักถ้วยหนึ่ง อีกอย่างสมัยนี้มีข้าวของสินค้าอะไร ๆ เหมือน ๆ กันแทบทุกแห่งในประเทศไทยอยู่แล้วกระมัง
รถด่วนสายกรุงเทพฯ-อุบลจะถึงที่หมายประมาณเจ็ดโมงเช้ากว่า ๆ ดังนั้นถึงช่วงใกล้ศรีสะเกษ พนักงานเขาจะเก็บที่นอนเรียบร้อย ให้เรามานั่งชมวิวทิวข้าวสองข้างทางยามรุ่งอรุณได้แล้ว ก็จะมีบางครั้งที่แม่ค้าแอบหิ้วสินค้าขึ้นมาขายบนรถไฟ ที่เห็นจนชินคือ ไก่ย่างกัณทรารมย์ เขาว่าอร่อยแต่เราไม่เคยซื้อ ไม่ชอบใจที่แม่ค้ามักง่ายนำไก่ย่างแบมาในกระจาด ตะกร้า ไม่ใช้อะไรปิดบังห่อหุ้ม เราว่ามันคงเป็นที่เกาะกลุ่มของฝุ่นละอองไว้มากมาย “กินไม่ลง” นึกแล้วก็มองเมิน
แต่ในโลกนี้มีอะไรแน่นอนบ้างล่ะ แม้แต่ประชาธิปไตยที่เราท่องอยู่จนคล่องขึ้นใจมาแต่เป็นเด็กนักเรียนป่านนี้ก็ยังไม่เต็มใบเลยว่าไหม
วันหนึ่งนอนมากับรถด่วนสายอุบลตามปกติ จนได้เวลาตื่นคือตีห้า กะว่าฟ้าคงจะสางแล้ว คงใกล้ถึงบ้านแต่ครั้นได้ยินเสียงประกาศที่สถานีข้างล่างดังขึ้นมาว่า “ที่นี่สถานีบุรีรัมย์ ท่านผู้โดยสารที่มากับรถไฟ ก่อนจะลงจากรถกรุณาตรวจดูสิ่งของให้เรียบร้อย...”
“เพิ่งถึงสถานีบุรีรัมย์เหรอ”
“ครับรถไฟเสียเวลาครับ” เจ้าพนักงานตอบ
หกโมงเช้ารถไฟยังไม่ถึงสุรินทร์ แปดโมง เก้าโมง ยังไม่ถึงศีรสะเกษก็เริ่มหิวละซี ครั้นถึงสถานีศรีสะเกษก็ปาเข้าสิบโมงเช้าแล้ว ทันใดนั้นมีเสียงหวาน ๆ ดังขึ้นว่า “ไก่ย่างจ้า ไก่ย่างกัณทรารมย์” คุณยายที่นั่งข้าง ๆ กวักมือเรียกทันที แล้วคุณยายก็เหมาหมด คงหิวจัด เราได้แต่แอบมอง บอกตัวเองว่าคุณยายเหมาหมดก็ดีแล้ว ไม่คิดว่าจะซื้อหรอกแม้ท้องจะตีกลองประท้วง คิดแล้วก็ลูบท้องไปพลาง
“ไก่ย่างมาแล้วจ้า ไก่ย่างกัณทรารมย์”
มาอีกแล้วเห็นคุณป้าที่นั่งอยู่ถัดไปเตรียมควักกระเป๋าตังเราเลยผวาลุกขึ้นก่อนแก “แม่ค้าเอามานี่สิจะเหมาหมด เอาข้าวเหนียวด้วยนะจ๊ะ”
“ข้าวเหนียวหมดแล้วค่ะ วันนี้ขายดี มีไก่ย่างเหลือไม้เดียวเอง”
มันเป็นไก่ย่างที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาเลยละ เราสรุป
๐๐๐๐๐๐๐