อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในมรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็น
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เมื่อปีพ.ศ.2542 ผมเกือบต้องไปเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน แทนพี่สมบูรณ์ บูรณะ แต่แล้วผมก็โชคดีที่ไม่ต้องไป โดยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ(วิชาการของส่วนอุทยานแห่งชาติเดิม) รอดตัวไปหวุดหวิด ระหว่างนั้นผมเป็นรองประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (เขียนบทความคอลัมม์ ป่าไม้พัฒนา อยู่ที่ นสพ.เดลินิวส์ และบ้านเมืองฟรีสไตล์ นสพ.บ้านเมือง) กลับต้องไปกับชมรมที่รีสอร์ทผางาม ในอุทยานแห่งชาติทับลานจนได้
ทำเลที่ตั้งรีสอร์ทผางามอยู่ในจุดที่ลมพัดผ่านค่อนข้างมาก สัมผัสทะเลหมอกที่อวลอบขึ้นมาจากหุบเขาเบื้องล่าง ค่อนข้างหนาแน่น นักท่องเที่ยวจึงกรี๊ดกันสนั่นกับธรรมชาติที่ได้สัมผัสโดยไม่ต้องเดินทางไปจนถึงภาคเหนือ ใกล้กรุงเทพด้วย หลังรับประทานอาหารกันอิ่มแล้วก็เดินทางต่อไปพักแรมที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งได้จ่ายเงินจองบ้านพักไว้แล้ว มีใบเสร็จเรียบร้อย แต่แล้วก็ต้องตกใจ เมื่อไปถึงค่อนข้างเย็น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า บ้านหลังที่ผมจ่ายเงินไปแล้วนั้นได้ยกให้ทหารหาญกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลเข้าพักแล้ว เวรแท้ๆ
หัวหน้า เทวินทร์ มีทรัพย์
ชมรมเดินทางกลับเข้าปราจีนบุรีแล้วพักแรมที่โรงแรมกลางเมือง ผมอายแทบแทรกแผ่นดิน นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จนทุกวันนี้ผมไม่อยากเหยียบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกเลย เซ็ง อับอาย และเสียความรู้สึก วกกลับมาอีกนิดนะครับ มีความพยายามที่จะผลักดันให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน-ปางสีดา-ตาพระยา รวม 4 อุทยานเป็นผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ
แผนที่อุทยานฯทับลานและชุมชน
ผมรู้สึกว่า ไม่น่าเลย เพราะว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โอเค มีความสมบูรณ์ของผืนป่าน่าสงวนรักษาและยกย่อง ด้วยว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อพยพชุมชนออกจากพื้นที่หมด เหลือเพียงพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยที่ทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่โล่งแจ้งให้สัตว์ออกมาหากิน โดยมีความเชื่อว่าต้องเผาป่าส่วนนี้เพื่อให้เกิดระบัด(หญ้าอ่อนแตกใหม่ๆ) สัตว์จะได้ออกมาหากิน นักท่องเที่ยวจะได้ส่องกล้องจากหอคอยดูสัตว์ป่าสะดวกและเห็นตัวจริงๆ ก็โอเค
ดงต้นลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน
แม้ว่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะยังมีพืชต่างถิ่น(Exotic Species)ที่ปลูกโดยหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งติดชื่อไว้เป็นบุคคลสำคัญๆบ้าง ยุคที่ททท.ทำโรงแรมเขาใหญ่บ้าง พันธุ์ไม้ต่างถิ่นเหล่านั้นกระจัดกระจายไปทั่ว โดยไม่รู้ว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในโลกกว้างนั้น เขาสงวนพื้นที่เหล่านั้นไว้เพื่ออนุรักษ์เผ่าพันธุ์พืชและสัตว์ดั้งเดิมของพื้นที่ป่าเขาเหล่านั้น เช่นถ้ามีกล้วยไม้ช้างแดงอยู่ ก็สามารถนำต้นพันธุ์ช้างแดงมาผสมพันธุ์ใหม่เป็นลูกผสมเชิงพาณิชย์ได้ โดยยังคงมีช้างแดงพันธุ์แท้ดำรงอยู่ในผืนป่าเขาใหญ่อะไรทำนองนี้ เข้าใจการอนุรักษ์ไหมครับ
ถัดมาเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อันเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีผืนป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ค่อนข้างน้อยมาก ต้นลานพืชพันธุ์โบราณที่โดดเด่นมาก หากเห็นภาพในอดีตจะดูเหมือนว่าเป็นหุบเขาแห่งโลกล้านปีทีเดียว แต่ด้วยว่าเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ผืนป่าทับลานเป็นอุทยานแห่งชาตินั้นเกิดความผิดพลาดใหญ่หลวง 2 ประการคือ ประการแรกเมื่อกำหนดเขตอุทยานแห่งชาตินั้นครอบคลุมพื้นที่ชุมชนมากถึง 80 ชุมชน คนหลายหมื่นคน ซึ่งควรกันพื้นที่ชุมชนออกแล้วประกาศเฉพาะผืนป่าที่เหลืออยู่ ประการที่สองคือต้องอพยพชุมชนทั้งหมดออกโดยหาพื้นที่รองรับ แต่ประเด็นหลังนี้ยากมากๆ นี่ก็คือการปัดฝุ่นเข้าใต้พรมของกรมป่าไม้ครับ
ส่วนเรื่องพันธุ์พืชต่างถิ่นกำเนิดนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพียบ ไปทุกตารางเมตร แม้แต่ในอุทยานแห่งชาติทับลานเองตั้งแต่หน้าที่ทำการก็เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ต่างถิ่นซึ่งต้องไม่มี แต่ก็มีเสียจนไม่รู้ว่าจะตัดมันออกได้อย่างไร ทั้งๆที่มีระเบียบว่าด้วยการจัดการอุทยานแห่งชาติพ.ศ.2536 ให้ทำเรื่องสำรวจพันธุ์ไม้ต่างถิ่นแล้วขออนุมัติจากอธิบดีกรมป่าไม้ เท่านั้นก็กำจัดตัดออกได้ แต่ก็ไม่มีใครทำ จนกลายเป็นดินพอกหางหมูไปทุกเขตป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เฮ้อ ด้วยความรู้ไม่ถึง ด้วยความมักง่าย และด้วยธุระไม่ใช่ ไม่น่าเป็นมรดกโลกจริงๆ
ศาลานั่งเล่นหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน
อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ก็อีหรอบเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติทับลาน มีแต่ชุมชนและพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ต่างถิ่น แม้แต่ "การใช้สี"ตามหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล ก็ยังเละตุ้มเป๊ะ ถ้าจะว่าไปแล้ว อุทยานแห่งชาติกลุ่มนี้ ไม่ควรยกเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ก็อาจจะด้วยคณะกรรมการมรดกโลกเองก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเช่นนี้ หรืออาจถูกปกปิดข้อมูล
เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็พยายามจะยกระดับประกาศเป็นมรดกโลก ผมเองก็เคยเขียนบทความเสนอไปว่า แก้ปัญหาเรื่องสวนมะนาวซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นนับหมื่นๆไร่ให้ได้เสียก่อนเถอะ หรือชุมชนกระเหรี่ยงที่มีทุกมุมของอุทยานแก่งกระจาน ขี้กลากเต็มไปทั้งตัวยังสเออะจะส่งประกวดกับเขาด้วย
สวยงามมากๆไร่มันสัมปะหลัง
นอกจากนั้นทั้งสามอุทยานแห่งชาติยังเต็มไปด้วยมิติของการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยด้วยการปลูกมันสัมปะหลัง และไม้ยืนต้นยอดนิยม ยางพารา ซึ่งเป็นพันธุ์พืชต่างถิ่นทั้งสองชนิด ผมไม่ทราบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรกุเช่นกรณีดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด แต่บอกได้ว่าสุดลูกหูลูกตาก็แล้วกัน นี่คือการละเลยกระนั้นหรือ ผิดหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติหรือไม่
ถ้าปล่อยปละละเลย มีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่ ส่วนกรณีที่ชุมชนชาววังน้ำเขียวที่แปลงสภาพพื้นที่เป็นรีสอร์ทเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ก็คล้ายๆกัน ทำไมตอนที่เขาปักเสาต้นแรกจึงไม่เข้าไปดำเนินการ ละเลยตามมาตร 157 ไหม ซึ่งเรื่องการปราบปรามนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย เหมือนดาบสองคม ผมรู้สึกเห็นใจเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานมาก ด้วยว่าต้องตกเป็นหนังหน้าไฟ ทำการปราบปรามเมื่อไฟลามไปทั้งทุ่งเสียแล้ว ดีไม่ดี อาจจะโดนฟ้องกลับ
สวนยางพาราปลูกมากว่า 2 ปี น่าจะจับตั้งแต่แรกถางที่แล้ว เน๊าะ
ในเรื่องนี้ หัวหน้า เทวินทร์ มีทรัพย์ อนุญาตให้ผมกับสื่อจำนวนหนึ่ง ตามไปจับกุมนายทุนปลูกยางพารา(อายุกว่า 2 ปีแล้ว) และไร่มันสัมปะหลัง บนดอยสูง เจ้านี้ทำอยู่ 80 ไร่ ผู้ต้องหาเป็นแม่ลูกอ่อน 2 คน คนหนึ่งยังกินนมอยู่ อีกคนหนึ่งยังเล็กไม่ประสรประสาอะไร 4-5 ขวบ ส่วนสามีและคนงานหนีกันกระเจิงไปก่อนแล้ว นอกจากนั้น ยังได้ปืน ลูกปืน ดินปืน อุปกรณ์การล่าสัตว์ป่า และซากหมูป่าอีกจำนวนหนึ่ง เบื้องต้นได้ความว่าเช่าพื้นที่จากนายทุนชาวใต้หวันเพื่อปลูกมันสัมปะหลัง
พร้อมพรึบ
ขณะเดินทางกลับที่ทำการ ตลอดเส้นทางก็ได้เห็นไร่มันสัมปะหลังบุกรุกปลูกในสวนป่าไม้ยูคาลิปตัสแปลงใหญ่ ทั้งผืนแห่งขุนเขามีแต่ไร่มัน ส่วนจะเป็นของใครบ้างนั้นไม่รู้ รู้เพียงว่า ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือ ระหว่างทางลงจากยอดเขาลูกเดียวกันมีรีสอร์ทใหม่กำลังเริ่มก่อสร้าง เพียงมุงหลังคาอาคาร แต่ทางอุทยานแห่งชาติทับลานได้นำหมายศาลไปปักหน้าบ้านให้รื้อถอนตามคำสั่งและอำนาจที่มีอยู่ หยุดยั้งตั้งแต่แรกเกิดการบุกรุก "ดี" ไม่เสียหายทั้งเจ้าหน้าที่และคนที่บุกรุก ก็จะยังไม่ต้องสูญเสียมากกว่านั้น
ไร่มันบุกสวนยูคาลิปตัส สนุกจริงๆ
แต่อย่างไรก็ตาม หน้าต่างนี้อยากนำเสนอให้ไปท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อสัมผัสอากาศที่เย็นสบาย ถ้าไปถูกฤดูกาลก็จะได้ชมทะเลหมอก หรืออาบไอหมอกที่ฟุ้งกระจายอยู่รอบตัว แต่ถ้าไปหน้าฝนก็ไปเที่ยวน้ำตกที่มีอยู่หลายแห่ง ได้บรรยากาศป่าๆดีทีเดียว แต่ก็ไม่ยิ่งใหญ่อย่างกับน้ำตกเหวนรก บนเขาใหญ่หรอกนะ อุทยานแห่งชาติทับลานมีบ้านพักอุทยานรองรับอยู่แม้ว่าจะไม่มากอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่มีพื้นที่กว้างขวางให้กางเต็นท์ได้
คนอยู่ป่าก็ต้องกินหมูป่า และต้องมีอาวุธ
ประการสำคัญ อยากให้พาลูกหลานได้ไปรู้ไปเห็นว่า ต้นไม้ที่ชื่อว่าต้นลานนั้นมันเป็นอย่างไร ต้นไม้ต้นนี้ออกดอกครั้งเดียว โปรยเมล็ดสืบทอดเผ่าพันธุ์ครั้งเดียวนับล้านๆเมล็ด แล้วต้นแม่เขาก็จะตายไป เนื้อไม้นำมาทำตะเกียบ พื้นบ้าน ตกแต่งร้านรวงได้งดงามอยู่ ส่วนใบลานนั้นเป็นของป่าที่อดีตต้องเปิดสัมปทานอนุญาตให้เก็บหาและชำระค่าภาคหลวง(ภาษี)กันเลยทีเดียว ซื้อหมวกใบลานกลับมาใส่เล่นสักใบก็ช่วยให้ชุมชนคนใกล้อุทยานได้เงินกลับไปซื้อนมให้ลูกกินแล้ว
ดอกต้นลานนับล้านดอกและตะเกียบต้นลาน
วันนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานเปิดจองทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว จ่ายเงินก็โอนกันออนไลน์ ให้ใบเสร็จรับเงินก็ทางออนไลน์ ทันสมัยมากทีเดียว ก่อนการเดินทางไปท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทับลานจึงควรจองที่พักหรือลานกางเต็นท์เสียก่อนแหละดี
ผลผลิตจากใบลาน และเนื้อต้นลาน
เพราะว่าไม่มั่นใจนักว่าวันหน้านี้ รีสอร์ท โรงแรม โฮมสเตย์ ของภาคเอกชนจะมีให้เลือกเข้าพักแรมได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ตรวจสอบให้ละเอียดนิดหนึ่ง แต่ถ้าต้องเร่ร่อนไปหาซื้อกินละก้อ จำไว้อย่าง ร้านไหนมีคนเข้าไปกินเยอะๆ ละก้อ อร่อยใช้ได้แน่นอน วัสดุที่ใช้ใหม่ สะอาด ส่วนร้านไหนไม่ค่อยมีลูกค้า ก็อาจจะเสี่ยงไปเจอกับ ไก่บ้าน หมู่ป่า เก้ง กวาง มีกลิ่นตุๆ แพงแล้วยังเสียอารมณ์
ด้วยความปราถนาดีจากเอกชน สีเลยโดด
และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่โฆษณา
ผิดโว๊ยใช้ที่หลวงหาผลประโยชน์