http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 25/01/2025
สถิติผู้เข้าชม14,668,669
Page Views17,029,605
« April 2025»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930   
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ตรุษจีน: ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ กุสโลบายลึกล้ำ โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

ตรุษจีน: ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ กุสโลบายลึกล้ำ  โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

 

ตรุษจีน: ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ กุสโลบายลึกล้ำ 

 โดย อึ้งเข่งสุง เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

                     "ถ้ากูตายแล้ว พวกมึงไม่ต้องไหว้ตรุษจีน สารทจีน หรอก  ยุ่งยาก กูตายไปแล้ว กูก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว พวกมึงเป็นข้าราชการถึงเวลาไหว้ก็ไม่ได้ไปไหว้ ได้แต่ฝากเงินไปซื้อของไหว้แค่นั้น"

                อดีตนักเรียนเรียนดีจากประเทศจีนยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสั่งลูกชายคนโตให้ถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติหลังความตาย

                "ตอนกูยังอยู่นี่ มึงเอาอะไรมาให้กินกูจะกิน" ลองกับเตี่ยผมซี

 

                   ไหว้บรรพบุรุษที่บ้านกลาง                                       กระดาษเงินกระดาษทอง

               ในฐานะบุตรชายคนโตของครอบครัว ผมพยายามบอกเล่าเรื่องที่เตี่ยสั่งไว้ แต่ไม่มีใครรับฟังเลยสักคน แม่ผมลูกเจ๊กผสมไทย พูดเสียงเขียว(อาการโกรธ)

                "กูยังอยู่ กูทำไม่ได้หรอก ยังไงก็ต้องไหว้บรรพบุรุษตามประเพณีต่อไป"

                หลังจากเตี่ยจากไปแล้ว พอครบวันตายก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้  พอถึงเทศกาลวันตรุษจีน สารทจีน ก็ยังต้องเตรียมเครื่องไหว้ให้ครบถ้วนตามประเพณีที่เคยทำมาตลอดชีวิตของเตี่ย แม้แต่เมื่อแม่ตายตามไปอีกคนหนึ่งแล้ว พวกเราเหล่าแซ่อึ้งก็ยังถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ 

 

 เครื่องเซ่นไหว้ระดับครอบครัวเล็กๆ

                ก่อนเตี่ยกับแม่จะตายจากไป ทุกปีพวกเราพี่ๆน้องๆ ก็ยกขบวนลูกเต้าพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ มารวมตัวกันที่บ้านกลาง ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นบ้านของพี่สาวไปแล้ว ระหว่างนั่งรอเตี่ยกับแม่ลงมากินเครื่องไหว้ที่มีหลักง่ายๆคือ หมูสามชั้น 1 ชิ้น  ไก่ 1 ตัว เป็ด 1 ตัว ต้มจืดหมูสามชั้น หรือซี่โครงหมู กับหัวผักกาดขาว(หัวไชเท้า) หนังหมูแห้งที่นำมาแช่น้ำจนพองนิ่ม ไส่ปลาหมึกหั่นฝอย กุ้งแห้ง โรยด้วยต้นหอมซอยยาวๆ ข้าวสุกเต็มถ้วยพูน ตะเกียบ น้ำชาจีน น้ำดื่ม ผลไม้ 5-9 อย่าง  ขนมเทียน ขนมกง ขนมเข่ง กระดาษเงินกระดาษทอง ฯลฯ

เครื่องเซ่นไหว้ระดับครอบครัวใหญ่

                เรียกว่าอะไรที่เตี่ยกับแม่เคยชอบก็พยายามหาซื้อมา ด้วยความหวังว่าเตี่ยกับแม่จะได้กินจนอิ่มหนำสำราญ 

               พี่สาวคนโตเริ่มจุดธูปไหว้ก่อน แล้วไล่ลงมาจนถึงหลานคนเล็กที่สุด ก็จุดธูปไหว้จนครบถ้วน โดยเริ่มไหว้กันตั้งแต่เช้าๆ แล้วก็นั่งพูดคุยกันไป เหมือนกับว่ามาสังสรรค์ครอบครัวปีหนึ่งได้พบหน้ากันครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่ว่างและหยุดการงานแทบสิ้น ความสุขของผู้ใหญ่ได้พูดคุยกันถึงความหลัง ขำขันบ้าง น่าโมโหบ้าง ส่วนความสุขของเด็กๆคือได้เล่นกันเต็มที่ ที่โตหน่อยก็ตั้งวงเล่นไพ่ เล็กๆก็ไล่กวดกันบ้าง ทอยกองกันบ้าง 

                      

 เด็กๆโตและไปทำงานกันหมด คนแก่ก็เลยต้องเผาเอง

                นี่คือกุสโลบายหนึ่งของประเพณีปฏิบัติ หากละเลยหรือเลิกอย่างที่เตี่ยสั่งไว้ ปีหนึ่งๆ พี่น้องลูกหลานเหลนก็คงไม่ได้มานั่งพูดคุยกัน เด็กๆก็คงจะไม่ได้ร่วมกันเล่น และอาจไม่สนิทสนมกันอย่างที่เห็นมาทุกวันนี้ จนเติบโตมีงานทำกันแล้ว แต่งงานไปบ้างก็มี แต่ก็ถือเป็นวันหนึ่งที่ได้มาร่วมกัน โดยเฉพาะพวกที่เกษียณราชการแล้ว ก็ได้มานั่งๆนอนๆพูดคุยกันตามประสาพี่ๆน้องๆ     

สับเป็ด-หมู่สามชั้นต้ม กินกันอิ่มเอม

               ได้เวลาราวๆ 11.00 น.ก็จะลา(เสร็จสิ้นการไหว้) เด็กๆจะสนุกมากที่ได้เอากระดาษเงินกระดาษทองไปเผาส่งไปให้อากงอาม่าไว้ใช้สอยในสรวงสวรรค์  หลังเผากระดาษเงินกระดาษทอง พี่น้องลูกหลานก็จะมาช่วยกันลา  คนถนัดเข้าครัวก็จะไปนั่งสับไก่เป็ดหมูสามชั้นใส่จาน  แยกของวงเด็ก แยกวงของผู้ใหญ่ ตักต้มจืด  หรือกับข้าวอย่างอื่นๆ แล้วก็ล้อมวงกันกินจนอิ่ม  กินกันไปพูดคุยกันไปด้วย เป็นการเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ให้แนบแน่น สอบถามสารทุกข์สุกดิบก็วันนี้แหละยืมเงินกันใช้ก็วันนี้แหละสะดวกที่สุด แต่ถ้าทวงหนี้กันวันนี้ เป็นเรื่องเคืองกันแน่ๆ

พระประธานในโบสถ์วัดไตรมิตร

                หลังกินอาหารคาวกันอิ่มแล้วก็กินของหวานหรือขนมส้มสุกลูกไม้ต่อ แถมกาแฟร้อนกาแฟเย็น สารพัดจะสรรหามากินกัน พูดง่ายๆว่า อยากกินอะไรก็ซื้ออย่างนั้นมาไหว้บรรพบุรุษ  แจกพี่ๆน้องๆลูกหลาน แล้วก็มีรายการเด็ด ถึงเวลา "แตะเอีย" แจกเงินครับ เด็กๆจะดีใจได้ปลื้มมาก ส่วนผู้ใหญ่ก็ถือโอกาสแจกเงินลูกหลาน มีมากก็ให้มากได้ มีน้อยก็ให้น้อย ไม่ค่อยจะมีก็ไม่ต้องให้ อันเป็นที่รู้กัน ไม่มีใครถือสา ไม่มีใครตั้งเป็นกติกาถาวร ไม่มีใครรังเกียจพี่น้องที่ยากจนกว่า

ห้องใต้มณฑปเป็นพิพธภัณฑ์เรื่องราวเยาวราช

               ก่อนวันไหว้หนึ่งวัน ทุกบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ แต่ปัจจุบันนี้ มีร้านทำไว้ขายให้ครบถ้วนสะดวกกว่าในอดีตเยอะเลย  เป็นวันหนึ่งซึ่งมีคุณค่าอนันต์ เป็นวันพิเศษสุดๆของครอบครัวที่จะได้แสดงมุทิตาจิตต่อญาติผู้ใหญ่ เป็นวันที่ได้มาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา  เป็นวันเชื่อมความรักความผูกพันธุ์ระหว่างญาติพี่น้อง เป็นกุสโลบายที่ยิ่งใหญ่และวันนี้ได้สร้างให้กลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยวด้วยประเพณีที่ดีงาม ปีหน้าวันเดียวก็ไปเที่ยวเยาวราชในวันตรุษจีนได้ อิอิ

คนจีนไว้ผมเปียตามยุคสมัยของราชวงศ์ชิง ขวาบนเป็นพระนางซูสีไทเฮาและขุนนางจีนในเยาวราช

               วันที่หนึ่ง วันจ่าย วันที่สอง วันไหว้  วันที่สาม วันเที่ยว  ถือเป็นแบบฉบับที่ชนเชื้อชาติจีนในประเทศไทยถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง

รถเจ๊กและหอบรรพบุรุษผู้บุกเบิกจนร่ำรวยและมีชื่อเสียง

               ผมกับน้องชาย อดีตข้าราชการระดับจังหวัด จอดรถยนต์ที่ลานจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วตีตั๋วผู้สูงอายุ(ลดครึ่งราคา) จากสถานีบางซื่อ ไปถึงสถานีหัวลำโพง บนรถที่เย็นฉ่ำด้วยแอร์ ที่นั่งเพียบพร้อม ใช้เวลาไม่มาก ก็ถึงหัวลำโพง อันเป็นสถานีสุดท้ายปลายทาง ผมเดินกันไปจนถึงถนนเยาวราช แต่ช้าก่อน  เราชวนกันไปกราบไหว้พระประธานในโบสถ์ของวัดไตรมิตรวิทยาราม  หยอดตู้รับบริจาค นั่งดูพฤติกรรมของผู้คนที่เข้ามาในโบสถ์ ล้วนศรัทธาในพุทธศาสนา

        

ภาพจากห้องพิพิธภัณฑ์ของเยาวราช

              มีชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติ ฝรั่งตาน้ำข้าวมากันเป็นบัสๆ ส่วนชาวจีนจากต่างประเทศก็มากันเยอะมาก(ฟังจากเสียงพูดคุยและการแต่งตัว) ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพันธุ์แท้ ไหว้พระกันแล้วก็เดินไปขึ้นมณฑปพระบรมธาตุที่สูงมากๆ สร้างได้ใหญ่โต ที่นี่ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์การแสดงของชนเชื้อชาติจีนเยาวราช ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาทำการค้าสารพัดชนิดจนรุ่งเรือง และร่ำรวยกันไปทุกตารางนิ้ว แทบว่าจะกุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ

        

อาชีพแรกบนแผ่นดินสยามของชาวจีนโพ้นทะเล"กุลีแบกหาม"

              บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ เป็นพระประธานทองคำ รอบๆผนังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหล่อพระประธานอย่างไร  บนชั้นนี้จึงคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่เข้ามากราบไหว้ขอพรเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเอง และครอบครัว  ส่วนชาวต่างชาติที่เข้ามาชมนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ แต่ก็สนใจเดินไหว้วนไปกับชาวพุทธด้วย แต่ละคนแต่ละกลุ่มมีกล้องดิจิตอลทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ เมื่อเขากลับไปบ้านของเขา ภาพพระทองคำวัดไตรมิตก็จะกลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยว  

อึ้งเหมี่ยวเหงียน และป๋วย อึ้งภากรณ์

             หลังจากลงมณฑปแล้วผมก็เดินกันไปช้าๆ ผ่านวงเวียนโอเดี้ยน มีป้ายศิลปะจีนตั้งตระหง่าน โดดเด่น สวยงามมาก และเมื่อไปถ่ายรูปก็ยังติดภาพมณฑปวัดไตรมิตรอยู่ด้วย ใกล้ๆกันมีศาลเจ้าพ่ออยู่หลังวัดไตรมิตรแห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่งอยู่บนถนนเยาวราช ศิลปะจีนทั้งสิ้น ผมเดินไปชมการเตรียมการสำหรับเปิดงาน "วันเที่ยว" ซึ่งจะมีการเปิดเทศกาลตรุษจีนของเยาวราช

             นี่แหละประเพณีดีงาม ได้กลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยวไปโดยอัตโนมัติ เม็ดเงินตกหล่นไปทั่ว ร้านค้าที่เปิดจำหน่ายขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทุกปีชาวไทยเชื้อสายจีนจะจัดงานวันเที่ยวเยาวราชอย่างครึกครื้น มีรายการโชว์และการแสดงมากมายหลายอย่าง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ขายประพณีได้อย่างลงตัว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมอย่างเยี่ยมยอด

             หากวันเที่ยวหนึ่งวัน  ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี ปีหน้าวางแผนการสำหรับวันเที่ยวเสียดีกว่า ไปใกล้ๆ ไปกับรถไฟฟ้าใต้ดิน คนแก่ ไป-กลับ แค่ 40 บาท มีอาหารการกินและของฝากมากมายหลายสิ่ง อันเป็นอาหารหลักๆของเยาวราช แต่ถ้าอยากไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือไปต่างจังหวัดก็ต้องวางแผนจองทัวร์ ที่พักแรม อาหารการกิน และต้องเน้นความปลอดภัยให้เรียบร้อย

            พระทองคำในมณฑปวัดไตรมิตร 

            นี่ถ้าผมทำตามที่เตี่ยสั่งละก้อ วันตรุษจีนคงไม่ได้นั่งกินข้าวกับพี่น้องลูกหลานแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เตี่ยสั่งผมนั้น ผิดหรอกนะครับ เพราะว่าทุกวันนี้ที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ก็แทบไม่เหลือประเพณีเหล่านี้อยู่เลย ด้วยว่าหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ศาลเจ้าและวัดก็ไม่เหลือให้เห็น  อันเป็นความคิดของการอยู่รอด ต้องหยุดทุกอย่างเพื่อให้คงตัวอยู่ได้          

 

 

ศาลเจ้าบนถนนเยาวราช

 

ป้ายศิลปะจีนขนาดใหญ่กลางวงเวียนโอเดี้ยน เห็นมณฑปวัดไตรมิตรด้วย

วันนี้ กล่าวได้ว่า คนไทยคนจีนใช่อื่นไกล ล้วนเป็นพี่น้องกัน

 

Tags : ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและวิถีชีวิต art&culture chinese new year

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view