สิบสองปันนาหงส์ฟ้าพญามังกร
ตอน 6. นกยูงฝูงใหญ่
มิติความคิดสร้างสรรค์หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสัตว์ป่า
โดยอึ้งเข่งสุง-เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์
หนึ่งในรายการนำเที่ยวสิบสองปันนาที่ได้รับความพึงพอใจสูงสุดกิจกรรมหนึ่งคือการเข้าไปชม "นกยูง" สัตว์ป่าที่สูงศักดิ์อันประเมินค่ามิได้ จำนวนมากมายหลายร้อยตัว ที่โผผินบินไปมาด้วยทีท่าน่ารักและควรถนอม เป็นมิติความคิดสร้างสรรค์ที่น่ายกย่อง หรือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสัตว์ป่า เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของมนุษย์ กระนั้นหรือ?
เข้าคิวไปและกลับทุกครั้ง...นี่คือการจัดการของธุรกิจ
สิบสองปันนา(Xishuangbanna) เป็นเขตการปกครองตนเองของชนเผ่าไทลื้อ ที่มีวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อ หลายอย่างที่เหมือนหรือคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับ"ชาวเหนือ" ของประเทศไทย และชาวหลวงพระบางของประเทศลาว
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ สัญลักษณ์รูป "นกยูง" ที่ติดหรือแกะสลัก หรือวาด ตามหน้าบันของสิ่งก่อสร้าง พุทธสถาน สถานที่ราชการ นกยูงกลายเป็นเส้นใยแห่งรากเหง้าของชนเราเผ่าไทลื้อ
มุมรอที่มีชีวิตชีวามากๆ
เมืองสิบสองปันนาเน้นหนักเรื่องศิลปะที่สืบสานความเป็นไทลื้อ วัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือพุทธสถานทั่วไปก็เน้นรูปแบบไทลื้อ อาคารสิ่งก่อสร้างในตัวเมือง ไม่ว่าของราชการหรือเอกชนคนทั่วไป ก็ล้วนคงเอกลักษณ์ความเป็นไทลื้อด้วยศิลปะ การสลักเสลาลวดลาย การแต่งแต้มสีสัน โดยเพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมเรื่องเครื่องนุ่งห่ม สาวจนถึงสาวน้อยของชาวสิบสองปันนาแต่งตัวด้วยชุดไทลื้อกันทั่วไป
มาแล้ว หงส์ร่อน(มังกรรำ) มาอย่างสง่างาม
การนำเอาสัตว์แสนสวยและสุดแสนสง่างามเช่นนกยูง แต่เข้าถึงหรือเห็นได้ยากยิ่ง ด้วยว่าวิถีชีวิตแห่งเธอ นำมาเป็นจุดขายการท่องเที่ยวโดยใช้จำนวนนับร้อยๆตัว จึงดูยิ่งใหญ่อลังการ และด้วยความชาญฉลาดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสัตว์ป่าให้เรียนรู้จึงกำหนดช่วงเวลาในการแสดงได้อย่างน่าอัศจรรย์
บินกันมาครั้งละ 5-6 ตัว การจราจรไม่แออัด
เราไปถึงจุดชมนกยูง พื้นที่โดยรอบเป็นเนินเขาล้อมรอบสระน้ำกว้างขนาด 2 ไร่ กลางสระน้ำสร้างศาลาแบบเก๋งจีน มีสะพานทอดผ่านเวิ้งน้ำด้วยวิถีโค้ง ในน้ำก็เลี้ยงปลาสวยงามมากมายหลายหมื่นตัว แวกว่ายกันอยู่ไปมา มีอาหารเม็ดขายให้โปรยเลี้ยงปลาไปพลางๆ อันเป็นรายการคั่นช่วงเวลาสำคัญที่นกยูงจะออกมาอวดโฉม ผมและคณะตั้งกล้องจ้องกันว่า นกยูงจะบินมาจากฝั่งตรงข้ามอย่างแน่นอน มีสาวสามนางแต่งกายด้วยชุดกระโปรงยาวสีขาว สีชมพู น่ารัก
เธอคือสัญญาณที่นกยูงผวาตาม
มองไปโดยรอบพื้นที่กว่า 10 ไร่ มีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศมารอชมกันอยู่ แทบทุกคนถือกล้องดิจิตอลเล็กๆบ้าง ขนาดใหญ่ๆอย่างมืออาชีพก็ไม่น้อย ผมเหลือบมองนาฬิกาบนข้อมือบอกเวลา 11.30 น. สามสาวเป่านกหวีดหวีดหวิว ทันใดนกยูงสีเขียวสลับสีน้ำตาลก็บินพรูกันออกมาจากป่าไม้ไผ่ฝั่งตรงกันข้าม เขาไม่ได้บินมาทีเดียวเป็นร้อยๆตัว แต่เขาทะยอยบินมาเป็นกลุ่มๆ
ความน่ารักของนกยูง ก็เหมือนกวางดาวที่ญี่ปุ่น
สีหน้าและแววตาของนักท่องเที่ยวที่ยืนรอชมอยู่นั้น ดูตื่นเต้น ตะลึงลาน และพยายามจะถ่ายภาพนกยูงฝูงใหญ่ สามสาวเดินเป่านกหวัดพร้อมกวัดแกว่งเรียวไม้ไผ่ปลายธงในมือ นกก็จะเฮโลกันไปเป็นขบวนๆ บางตัวกล้าหาญมาก กระโดดขึ้นจิกอาหารเม็ดจากฝ่ามือของนักท่องเที่ยว ทำให้ได้รับความรู้สึกที่ดูแล้วตื่นเต้น และดีใจที่ได้สัมผัสนกยูง
นกทรงศักดิ์สูง และงามสง่า สัญลักษณ์หนึ่งของชนเผ่าไทลื้อสิบสองปันนา
สัตว์ป่าแสนสง่างามและทรงคุณค่า
ฝูงนกยูงเดิน เฮไป แล้วก็เฮมา บนผืนหญ้าสีเขียวที่รายล้อมด้วยผู้คน มีจุดหนึ่งเป็นสะพานไม้ให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปถ่ายรูปกับนกยูงได้ด้วย เวลาหมดไปกี่นาที หรือกี่ชั่วโมงก็ไม่ทันได้ดู แต่เมื่อสามสาวเจ้าชุดสาวไทลื้อ "เป่านกหวีด" นกยูงฝูงนั้นก็กรูกันไปยืนรออยู่ริมน้ำ แล้วก็ทยอยบินกลับไปเหมือนตอนที่บินออกมา กลับเข้าช่องเดิม
นกยูงสูงศักดิ์..สัญลักษณ์ของชนเผ่าไทลื้อ
บรรดานักท่องเที่ยวก็ถ่ายรูปกันเพลิน พวกเรากลุ่มสื่อมวลชนก็แฮปปี้ที่ได้ภาพเพื่อนำกลับไปใช้งานตามบทบาทและหน้าที่ ส่วนจะถ่ายให้สวยงามอย่างมืออาชีพก็ท่าจะยาก ด้วยว่าไม่สามารถไปจัดฉากเจ้านกยูงได้ และก็มีเพียงช่วงเวลาเดียวที่จะต้องถ่ายรูปให้ได้เท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในขณะที่มีนักท่องเที่ยวมากมายออกันแน่น เบียดกันจนเซก็เกิดขึ้น
เมล็ดธัญพืชที่ชื่นชอบ เป็นรางวัลที่นกยูงได้รับ
เมื่อนกยูงบินกลับไปจนหมดแล้ว นักท่องเที่ยวก็ถูกจัดระเบียบให้เข้ากลุ่มแล้วก็ยืนรอเรียก เป็นระบบก่อนหลังตามที่เจ้าหน้าที่จะเรียกขึ้นรถยนต์ "ส่งแขก" ออกไปจากพื้นที่ ไม่มีการแย่งกันจนมั่ว เขามีระเบียบในการเข้าและออกที่เป็นสากล ทุกคนเข้าแถวอย่างเรียบร้อย จะช้าจะเร็วก็อยู่ที่รถไฟฟ้าลำเลียงที่เขาจัดไว้ให้ กับปริมาณนักท่องเที่ยวมากเพียงใด
ฝูงชนคนท่องเที่ยว...แห่แหนกันมาชม
ภาพที่เห็นและฟัง(จากนักท่องเที่ยวไทย)จากนักท่องเที่ยวพูดคุยกัน เขาก็แสดงออกว่าพึงพอใจมาก เพราะว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะได้เห็นนกยูงมากมายขนาดนี้ ชื่นชมที่จัดระเบียบนกให้ออกมาอวดตัวตนและพฤติกรรมธรรมชาติของเขา ได้เข้าออกจากพื้นที่ด้วยความมีระเบียบ ทุกอย่างเป็นระบบธุรกิจที่ลงตัว ไม่เห็นว่าจะล้าสมัยหรือวุ่นวาย ทั้งๆที่สิบสองปันนาก็เป็นเขตการปกครองตนเองของชนเผ่าที่อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง อันเติบโตมาด้วยระบบเหมาเจอตุง
สิ่งก่อสร้างในเวิ้งเขา..สร้างง่ายๆ
ส่วนอดีตนักวิชาการป่าไม้เช่นช่างภาพของผม ให้ความเห็นว่า เป็นการหยิบจับธรรมชาติและความสวยงามของนกยูงมาใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เป็นระบบธุรกิจ แต่ดูแล้วแม้ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนกยูงไป ก็ไม่ได้ทรมานสัตว์แต่อย่างใด นกอ้วนท้วนดี ดูมีชีวิตชีวา และมีระเบียบตามที่ได้ฝึกปรือ มันก็เหมือนบ้านเราเอาช้างมาแสดง เหมือนละครสัตว์ทั่วโลก แต่ที่นี่มีเพียงนกยูงด้วยจำนวนมากๆ อันเป็นสัตว์ป่าสง่างาม
คนไทยทั้งน้าน..ว่าไง "อ.เสือ" เจอกันได้ในรายการนี้
โดยภาพรวมแล้ว ต้องยอมรับว่าการสร้างสรรค์ของธุรกิจงานแต่งของชนเผ่าไอนี่(อีก้อ) หรือนกยูง(ไม่รำแพน)ฝูงใหญ่ออกมาเดินจิกกินแล้วก็บินโชว์ไปกลับในไม่กี่ชั่วโมง น่าจะได้รับคำชมมากกว่าติ เฉกเช่นทัวร์ช้างเมืองไทยใสช้างพานักท่องเที่ยวที่บ้านเขาไม่มี ไปเดินตามป่าดงและลงน้ำอาบโชว์อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเป็นว่าเอาช้างไปเดินขอทานในถนนกลางกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆ นั้นละที่ถูกติเตียนว่า "ทารุณสัตว์" สำหรับผม..ก็โอเคซิกาแรต
เห็นมาดเจ้าตัวเล็กไหม..น่ารักสุดๆ